False Sense of Security

มีวิธีให้เลือกมากมายเพื่อรักษาความปลอดภัยของการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต

ปัญหาก็คือ ถ้ารู้แค่วิธีใช้เครื่องมือที่ช่วยเรื่องพวกนี้อย่างผิวเผิน มันก็อาจจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกว่าความเป็นจริง อาจเผลอเรอ ยิ่งอันตรายกว่าการไม่รู้จักเครื่องมือพวกนั้นแล้วเลี่ยงการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไปเลย

ทางเลือกที่ดีกว่าคือการเข้าใจกลไกต่าง ๆ ว่าอะไรสามารถเกิดขึ้นในขั้นตอนไหนได้บ้าง แต่บางครั้งมันก็ยากและกินเวลา

ทำไงความปลอดภัยจึงจะเป็นเรื่องง่าย

รากหญ้าเน็ต

เพิ่งรู้จักศัพท์ใหม่ Netroot

มีพลเมืองแล้ว ก็มีพลเมืองเน็ต

มีรากหญ้าแล้ว ก็มีรากหญ้าเน็ตบ้าง คิดว่าหมายความกว้าง ๆ ถึงพวกที่รวมตัวกันรณรงค์ออนไลน์นะ

Google Instant Keyword Blacklist

ไม่นานมานี้ Google เพิ่งเปิดตัวบริการเท่ ๆ อย่าง Google Instant ที่แสดงผลลัพธ์การค้นหาทันทีพร้อมกับการพิมพ์คำค้นของเรา

แต่จะเป็นยังไงถ้าเนื้อหา "ไม่พึงประสงค์" อาจโผล่ขึ้นมาขณะที่เราพิมพ์โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ Google เลยแก้ปัญหาด้วยการ "แบน" คำค้นบางอย่างมันซะเลย

นิตยสาร 2600: The Hacker Quarterly (ซึ่งมีที่มาของชื่อที่น่าสนใจ ไว้เขียนคราวหน้า) ได้เปิดให้คนทดลองแล้วส่งคำค้นที่ Google Instant ไม่ยอมแสดงผล แล้วรวบรวมไว้ให้ได้ลองดูกัน

ตัวอย่างนะ (ตรงที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่คือเมื่อกดถึงตัวนั้นแล้ว Google Instant จะหยุดแสดงผล)

  • booB (มันไม่พึงประสงค์ยังไงเนี่ย :P)
  • dick (หากพิมพ์ dick แล้วเว้นวรรคตามด้วยคำอื่น ส่วนมากจะโดนแบนหมด ตะกี้ลองดูเห็น dick cheney ไม่โดน แต่ dick armey โดน)

นอกจากนี้ ในหน้าเว็บเดียวกัน นิตยสาร 2600 ยังได้รวบรวมคำค้นที่ (ถ้าดูจากพวกที่โดนแบนแล้ว) น่าจะโดนแบนเช่นกัน แต่ไม่โดน ไว้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คำค้นพวกนี้ยังใช้ได้ถ้าเรากดค้นหาตามปกติ ก็อาจจะโอเคถ้าคิดว่า Google Instant มันเร็วมาก กันไว้ก่อนดีกว่า แต่ก็สงสัยว่ามันก็มี SafeSearch อยู่อีกชั้นแล้วนิ

รับธรรมผิวขาว

ใครที่อยากขาว ผิวดี ให้ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ แล้วแผ่เมตตามากๆ รับรองขาวสวยได้โดยไม่ต้องพึ่งหมอ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใดๆ แน่นอน

ทายซิใครพูดไว้ ถ้าไม่ขาวจริงจะฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไหมเนี่ย

หืม อะไรนะ อ๋อ มันเป็นปริศนาธรรม! ที่ว่าขาว ผิวดี เป็นการเปรียบเปรยว่าดูดีจากภายใน! อย่างนี้นี่เอง! เรามันช่างโง่เขลาอะไรปานนี้หนอ พระทั่นแค่เอาเรื่องทางโลกย์ที่มีนัยสร้างปมด้อยเรื่องสีผิวที่แก้ไขได้ยากเพราะมีติดตัวมาแต่เกิดมานำความสนใจไปสู่ธรรมะอย่างแยบคายเท่านั้นเอง จริงจริ๊ง

ขอขอบคุณหัวเรื่องจาก @warong เนื้อหาในบล็อกนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับความคิดเห็นของคุณ @warong แต่อย่างใด

มติชนออนไลน์มั่วนิ่ม?

สั้น ๆ กับข่าวนี้

ผกก. "เคซี แอฟเฟล็ค" ยอมรับสารคดี "วาควิน ฟีนิกซ์" เป็นเรื่องหลอกลวง

ในข่าวพูดถึงหนัง "แอม น็อต แธร์" เข้าใจว่าหมายถึงเรื่อง I'm Not There ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับ Joaquin Phoenix เลย เพราะเป็นหนังเกี่ยวกับ Bob Dylan

ส่วนหนังเกี่ยวกับ Joaquin Phoenix มันคือ I'm Still Here ตะหากละเฟ้ยยยยยยย

บทเพลงแห่งความรักและภักดีต่อประเทศชาติ

วันก่อนอารมณ์ดี ไปซื้อนี่มาจากตรงบ้านเจ้าพระยา ราคาหนี่งร้อยบาท

We Love the King DVD - Cover

พอแกะดูข้างใน

We Love the King DVD - Inside

...

FFFFFFFFUUUUUUUUUUUUU

มติชนออนไลน์ ลอก Siam Intelligence Unit?

อ่านข่าวสั้น ๆ นี้ก่อนครับ

สำนักงานแมนเดลายืนยัน ทักษิณเข้าพบแมนเดลาจริง โดย Siam Intelligence Unit หรือ SIU วันที่ 1 กันยายน 2553

แล้วลองอ่านข่าวนี้

สำนักงานแมนเดล่า ยืนยัน "ทักษิณ" เข้าพบจริง แต่เป็นการส่วนตัว ไม่มีการถ่ายภาพเป็นทางการ โดย มติชนออนไลน์ วันที่ 2 กันยายน 2553

เดจาวู!!! เดจาวูเห็น ๆ!!!

เครือมติชนเป็นสมาชิกชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ตามนี้

ปรับปรุงล่าสุด 3 กันยายน: ตอนนี้ถ้าคลิกลิงก์ของมติชนจะเห็นว่ามีข่าวอยู่สองส่วน คือส่วนบนที่อ้างไทยรัฐ กับส่วนล่างที่ไม่ได้อ้างอะไร และก็เป็นส่วนล่างนี่เองที่มีตั้งแต่แรกและดูเหมือนลอก SIU มา ส่วนบนนั่นเพิ่งเพิ่มเข้ามาน่าจะวันที่ 3 นี่เอง

การใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมช่วยการสืบสวนสอบสวน: ตัวอย่างจากสหรัฐฯ

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้เห็นความพยายามในการใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคม (Social Network) จากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมาบ้างพอสมควร ที่พบได้ทั่วไปคือการใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ ตัวอย่างเด่น ๆ ก็คงหนีไม่พ้นทั้งหน้าเฟซบุคและทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือหน้าเฟซบุคของกระทรวงต่าง ๆ

และด้วยความ "ตื่นตัว" ในการพยายามควบคุมข้อมูลออนไลน์ที่อาจถูกตีความว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เว็บไซต์เครือข่ายสังคมก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้สื่อสารกับประชาชนให้ช่วย "เป็นหูเป็นตา" คอยช่วยแจ้งถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์สำหรับรัฐบาล ซึ่งด้วยระยะแค่ไม่กี่ก้าวคลิก เราคงเห็นได้ชัดว่าวิธีนี้สะดวกสบายและรวดเร็วกว่าการตั้ง "สายด่วน" รับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์เหมือนในสมัยก่อนเป็นไหน ๆ

แต่นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแล้ว ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลังไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องการเมืองหรือไม่ เว็บไซต์เครือข่ายสังคมเหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ (หรือใครก็ตาม) ที่สามารถสืบค้นข้อมูลตั้งแต่ความสัมพันธ์ ความสนใจร่วมกันระหว่างผู้ใช้กลุ่มหนึ่ง ๆ ไปจนถึงรายละเอียดที่สามารถใช้ระบุตัวตนได้ ในกรณีที่ผู้ใช้ขาดความระมัดระวังในการควบคุมความเป็นส่วนตัว

อิเล็กทรอนิกส์ ฟรอนเทียร์ ฟาวเดชัน (Electronics Frontier Foundation - EFF) องค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่เอกสารหลายฉบับจากหน่วยงานรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกระทรวงการยุติธรรม ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุคและมายสเปซ มาช่วยในการสืบสวนสอบสวน ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกตั้งคำถามได้

จากการศึกษาโดยสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่สืบสวนทางอินเทอร์เน็ตสามารถระบุข้อมูลที่ "น่าสังเกต" หรือข้อมูลที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น หลักฐานการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกณฑ์อายุ หรือแนวคิดทางการเมืองที่สุดโต่ง จากคนจำนวนถึง 53% ของกลุ่มตัวอย่าง 349 คน ด้วยเพียงค้นหาจากชื่อ ที่อยู่ วันเกิด และเลขประกันสังคมเท่านั้น

หรือแค่เพียงจากข้อมูลในมายสเปซที่ถูกตั้งค่าให้เปิดเผยสู่สาธารณะ เจ้าหน้าที่สามารถพบข้อมูลที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้ใช้ถึง 48% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ส่วนมากถูกพบในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 - 24 ปี

สำหรับเครือข่าย หรือความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ใช้ มีเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาสามารถระบุที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยจากเพื่อน ๆ ในเครือข่าย และหน่วยปราบปรามฯ ยังมีการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการสร้างแผนผังความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้มายสเปซและยูทูบ เพื่อระบุกลุ่มคนที่น่าจับตามอง

ในรายงานยังระบุถึงการใช้ซอฟต์แวร์ที่อาศัยช่องโหว่ของระบบในการดูภาพส่วนตัวของผู้ใช้มายสเปซ ซึ่งเป็นข้อกังขาว่าอาจเป็นการละเมิดข้อตกลงการใช้งาน คำถามนี้ได้รับการยืนยันจากบันทึกภายในกระทรวงยุติธรรม ที่มีการตั้งคณะกรรมการเชิงนโยบายเพื่อตรวจสอบการใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมของหน่วยต่าง ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดข้อตกลงการใช้งาน หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยเจ้าหน้าที่

นอกจากการดึงข้อมูลด้วยซอฟต์แวร์หรือการค้นหาทั่วไปแล้ว มีรายงานจากสำนักงานสอบสวนกลางหรือ FBI ที่เอ่ยถึงการสร้างบัญชีผู้ใช้ทั่วไปโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อแทรกซึมไปหาข้อมูลในเครือข่าย และในนโยบายการใช้อินเทอร์เน็ตของหน่วยสืบราชการลับ มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ไม่ทิ้ง "ร่องรอยอิเล็กทรอนิกส์" และใช้ "บัญชีผู้ใช้นิรนามจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต"

จากตัวอย่างข้างต้น เราคงจะจินตนาการได้ไม่ยากถึงความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะมีความพยายามที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ได้กระทำความผิด เราก็ควรจะมีความเข้าใจในการปกป้องข้อมูลที่ตั้งใจให้เป็นส่วนตัว เราอาจจะเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ด้วยการตรวจสอบค่าความเป็นส่วนตัวในเฟซบุคให้เป็นแบบที่เราต้องการ สำหรับเทคนิคอื่น ๆ ในการรักษาความเป็นส่วนตัวนั้น ผู้เขียนจะทยอยนำมาเผยแพร่ต่อไป

ผู้อ่านสามารถค้นหาเอกสารที่ถูกอ้างถึงได้จากข่าวของ EFF หรือหน้าพิเศษสำหรับติดตามการเฝ้าระวังเว็บไซต์เครือข่ายสังคมโดย EFF เช่นกัน

พระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อในโลกหน้า

คลิกโน่นนี่ในยูทูบแล้วก็หลงไปดู จอร์จ คาร์ลิน อยู่ตั้งนาน ก็ให้นึกสงสัยว่าไม่ยักกะเคยได้ยินใครตั้งข้อโต้แย้งกับศาสนาพุทธบ้าง (ที่ไม่ใช่การวิจารณ์พระ หรือสภาพศาสนาที่เราเรียกกันว่าศาสนาพุทธในปัจจุบัน)

ค้น ๆ ดูก็พบว่ามีเรื่องของคนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรมในพระไตรปิฎกด้วย เขาคือพระเจ้าปายาสิ แห่งเสตัพยนคร เรื่องราวอยู่ในปายาสิราชัญญสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 2 พระไตรปิฎกเล่มที่ 10

ในเรื่องมีการโต้แย้งระหว่างพระเจ้าปายาสิกับพระกุมารกัสสปะ ซึ่งก็แน่นอนตามสูตรว่าสุดท้ายแล้วพระเจ้าปายาสิก็เกิดละทิ้ง "ทิฐิ" แล้วก็กลายเป็นสาวก

ที่ตลกก็คือตรงรายละเอียดในการโต้แย้งเรื่องโลกหน้ามีจริงหรือไม่ มันก็คล้าย ๆ กับเรื่องพระเจ้าในศาสนาคริสต์ คือกลายเป็นว่าเป็นภาระของฝ่ายที่ไม่เชื่อ ในที่นี้คือพระเจ้าปายาสิ ต้องพิสูจน์ว่าโลกหน้าไม่มีจริง ปัญหาก็คือมันไม่มีวิธีพิสูจน์ว่ามันไม่มีจริง

แล้วตรรกะก็ฝั่งพระกุมารกัสสปะก็มีแต่ยกเรื่องมาเปรียบเทียบ เช่น เราไม่รู้ว่าโลกหน้ามีจริงหรือไม่ก็เหมือนคนตาบอดมองไม่เห็นว่าสีต่าง ๆ มีจริงหรือไม่ หรือไม่ก็กำหนดกฎของฝั่งตัวเอง เช่น พระเจ้าปายาสิถามว่าทำไมไม่มีคนจากสวรรค์มาบอกบ้างเลยว่าทำดีแล้วได้ขึ้นสวรรค์ พระกุมารกัสสปะก็บอกว่าเวลาในสวรรค์ผ่านไปช้ากว่าบนโลกมาก

ลองอ่านเองได้ ทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทย

แค่ชายตามอง

ไม่ ไม่ใช่เรื่องมองสาว

ช่วงนี้นอนน้อยมาก ถ้าวันไหนนอนมากก็แปลว่าหลับไปไม่รู้ตัว สาเหตุหลักก็น่าจะมาจากที่บ้านติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว มันเพลินมาก อ่านโน่นอ่านนี่

ไม่สิ ไม่ได้อ่าน แต่แค่ชายตามอง

ไม่รู้ว่ามันดีหรือแย่กันแน่ สายตาถูกบังคับให้กวาดผ่านข้อมูลจำนวนมากในแต่ละคืน แค่ที่ติดตามในกูเกิ้ลรีเด้อร์ก็ประมาณวันละ 60 - 70 หัวข้อ ยังไม่รวมที่คลิกตามไปอ่าน ยังไม่รวมวิดีโอในยูทูบ (ไอ้ระบบแนะนำวิดีโอนี่มันชั่วร้ายจริง ๆ เผลอแป๊บ ๆ เวลาผ่านไปสองชั่วโมง) ยังไม่รวมทวิตเตอร์ ยังไม่รวมเฟซบุค อ้อ และยังไม่รวมรูปภาพจำนวนมากใน 9gag.com (ของเขาดีจริง)

สุดท้ายแล้วก็พบว่าสิ่งที่เหลือติดหัวมีเพียงคำโดด ๆ กับการเชื่อมโยงที่ซ่อนอยู่ เช่น พอวันต่อมาเห็นข่าวโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ก็พลันนึกถึงประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ก็นึกไม่ออกทันทีว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ต้องไปหาดูในฟีดที่เคยอ่านถึงเจอว่า อ้อ เพิ่งมีข่าวเรื่องประเทศนี้กำลังจะห้ามการใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ส่งข้อความ เพราะมันรอดหูรอดตารัฐบาล

ง่าย ๆ คือจำได้แต่การอ้างอิง จำได้แต่สิ่งที่ต้องเอาไปค้นต่อ ส่วนมากไม่ได้เข้าใจติดหัวเหมือนอ่านหนังสือ

ก็ยังไม่รู้จะทำไงดี