ความใกล้ชิด

ผมมักจะนั่งอมยิ้มเสมอ เวลาที่ใช้ Google Talk แบบผ่านหน้าเว็บใน GMail แชทกับคนหลายคนพร้อมกัน

เพราะบ่อยครั้ง ผมได้เห็นคนสองคนที่ไม่รู้จักกัน และอาจไม่มีวันโคจรมาพบกัน ปรากฏตัวอยู่เคียงข้างกัน

เวลาแชทกับผม คุณรู้สึกถึงใครข้าง ๆ บ้างหรือเปล่า?

ความทรงจำ

ผมยืนอยู่หน้ากระจกในห้องน้ำ

ใบหน้าตัวเองในกระจก กลิ่นและรสของยาสีฟัน เสียงนกร้องนอกหน้าต่าง สัมผัสกระด้างของอ่างล้างหน้า

ค้นลงไปในความทรงจำ

ครึ่งนาทีที่แล้ว ผมเอาแปรงสีฟันยัดใส่ปาก หนึ่งนาทีที่แล้ว ผมกดคันโยกของโถปัสสาวะ ยี่สิบสี่ชั่วโมงที่แล้ว ผมนั่งอยู่ในที่ทำการไปรษณีย์ สองสัปดาห์ที่แล้ว ผมโกนหนวดครั้งล่าสุด หนึ่งเดือนที่แล้ว ผมซื้อยาสีฟันหลอดใหม่ สองปีที่แล้ว ผมย้ายของเข้าหอพักใน ยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว ผมเกิดขึ้นมาบนโลก

สิ่งต่าง ๆ ที่ผมสัมผัสได้รอบตัว หนวดเคราบนใบหน้า หลอดยาสีฟันที่เสียรูปทรง ภาพตึกหอพักนอกหน้าต่าง หยดน้ำบนมือ ทุกอย่างปรากฏอยู่อย่างมีเหตุผล สอดคล้องกับอดีต หรือจะพูดให้ถูกคือข้อมูลในความทรงจำ

ผมจับก็อกน้ำ สัมผัสของเหลี่ยมมุมปรากฏขึ้นทันทีในความรู้สึก

ผมบอกไม่ได้ว่าความทรงจำที่ครอบครองอยู่นั้น มันก็เพิ่งจะปรากฏขึ้นมาด้วยเหมือนกันหรือไม่

ไม่เอาทางม้าลาย

ความคิดของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อตัวขึ้นหลังจากอ่านหนังสือ คนกับโพสต์โมเดิร์น ของไชยันต์ ไชยพร จบ ไชยันต์กล่าวไว้ว่า (แล้วผมเอามาแต่งเติมว่า) การมีสะพานลอยเพื่อข้ามถนนทั่ว ๆ ไปนั้นเป็นความบัดซบของสังคมไทย ที่ทำให้ต้องเกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งค่าอิฐปูนในการก่อสร้าง หรือคนที่จะข้ามต้องเดินขึ้นบันได ทั้ง ๆ ที่ทางม้าลายมันก็มีอยู่แล้ว เพียงเพราะคนที่ขับรถยนต์ไม่นิยมจอดให้คนข้ามถนน ราวกับคนที่ขับรถไม่เคยนึกว่าสักวันหนึ่ง ตนเอง ญาติพี่น้อง ลูกหลาน จะต้องมาเสียเวลายืนชะเง้อรอให้รถผ่านไป แล้วจึงข้ามทางม้าลายด้วยความหวาดเสียว หรือหอบของพะรุงพะรังเดินขึ้นสะพานลอยสูงชันให้หัวเข่าเสื่อม

แน่นอน ผมขับรถไม่เป็น จึงไม่เคยขับรถยนต์ จึงไม่เคยทราบว่า ด้วยเหตุผลกลใด คนขับรถที่ต้องคอยมองสัญญาณจราจร มองรถคันอื่น ๆ จะไม่สามารถคอยสังเกตคนเดินเท้าที่กำลังจะข้ามทางม้าลาย แล้วชะลอความเร็วให้เขาหรือเธอข้ามไปได้โดยสะดวกได้ หรือมันจะจริงอย่างที่ผมเคยฟังไชยันต์ว่าไว้ในวงเสวนาเรื่องความปลอดภัย ว่าถนนเมืองไทยนั้นมันก็เหมือนป่า กฎระเบียบต่าง ๆ แท้จริงแล้วมีแค่ รถมีกำลังมากกว่าคน คนจึงต้องยอมหลบให้ เท่านั้นหรือ พวกเราที่ต่างก็จ่ายภาษีไปสร้างถนนมาใช้ร่วมกันคิดกันอย่างนั้นจริง ๆ หรือ

เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มคิดฟุ้งซ่านมากขึ้นว่า ในเขตเมืองที่มันเป็นที่ที่คาดการณ์ได้ว่าจะต้องมีคนข้ามถนนอยู่เรื่อย ๆ เนี่ย มันต้องมีทางม้าลายด้วยหรือ คนที่ขับรถยนต์จะไม่สังเกตอะไรรอบตัวเลยนอกจากรถคันอื่น สัญญาณจราจร แล้วก็ทางม้าลายเท่านั้นน่ะหรือ ถ้าไม่ใช่แล้ว ก็ไม่เห็นจะต้องมีทางม้าลายให้ยุ่งยาก

วันนี้เพิ่งเจอกับตัวมาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก คือถนนแคบ ๆ ในมหาวิทยาลัย ยังต้องมีตำรวจจราจรคอยกำกับว่า ข้ามถนนตอนไหนได้ รถวิ่งตอนไหนได้ ผมสงสัยนักว่าบนถนนแคบ ๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีแยก วงเวียน ทางเลี้ยวอยู่ใกล้ ๆ เนี่ย รถยนต์มันจะวิ่งได้เร็วแค่ไหนเชียว แล้วถ้าวิ่งได้ไม่เร็ว คนขับจะไม่ยอมดูคนข้ามถนนหน่อยหรือ ถึงต้องให้ตำรวจจราจรมากำกับ

จริง ๆ เคยบ่นทำนองนี้ไว้ใน twitter มีคนตอบกลับมาว่า ก็ควรจะแบ่งถนนให้ทั้งคนเดินเท้าและคนขับรถได้ใช้ถนนร่วมกัน (ด้วยการมีทางม้าลาย สัญญาณไฟจราจร หรือตำรวจจราจรมาคอยกันให้ข้ามถนน) แต่สำหรับผมแล้ว ลำพังแค่คุณมีรถยนต์ไว้ขับไปไหนมาไหน แถมยังปล่อยควันออกมาให้คนเดินเท้าต้องดมเนี่ย ก็ได้เปรียบพออยู่แล้ว ขอให้ช่วยมองคนเดินถนนบ้างเถิดครับ

การเมืองในทุกสิ่ง

จริง ๆ แล้ว หัวข้อ "การเมืองในทุกสิ่ง" นั้นไม่ค่อยจะตรงกับเนื้อความต่อไปนี้เท่าไรนัก เพียงแต่มันฟังดูเท่ดี จริง ๆ แล้วน่าจะเรียกว่า สาระและความไร้สาระของทุกสิ่ง หรือว่าที่มาที่ไปของทุกสิ่ง มากกว่า

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมเป็นคนที่บางทีก็เชื่อคนง่ายแต่บางทีก็ไม่เชื่ออะไรเลยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วนั่งคิดฟุ้งซ่านในรถตู้ที่บึ่งกลับมหาวิทยาลัยถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เจอมาในวันนี้ รู้สึกว่ากลุ่มความคิดมันลงตัวพอดี มีที่มา มีจุดจบ พอจะเอามาเขียนเป็นข้อความได้สักย่อหน้าหนึ่ง ก็เลยเขียน

สืบเนื่องจากที่ไปฟังเสวนาที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 มา ส.ศิวรักษ์เล่าว่า (หรือผมจับใจความได้ว่า) ซอยสันติภาพนั้น เดิมไม่ได้ชื่อว่าซอยสันติภาพ แต่ชื่อ ตรอกหลังวัดหัวลำโพง ชื่อสันติภาพนั้นเกิดขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เกิดความฮิตในคำว่า "สันติภาพ" แล้วก็มีใครสักคน (ที่ได้รับความนับถือจากคนในตรอก) เขียนป้ายแปะไว้ที่ปากทางว่า ซอยสันติภาพ แล้วชาวบ้านก็เรียกซอยตามชื่อนั้นเรื่อยมา ต่อมาทางการก็ได้เปลี่ยนชื่อ (อย่างเป็นทางการ) ของตรอกนี้จากชื่อเดิมเป็น "ซอยสันติภาพ"

ส.ศิวรักษ์ยังเล่าถึงที่มาของชื่อถนนต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากถูกตั้งตามขุนนางหรือคนที่มีอำนาจในละแวกนั้น หรือถูกตั้งตามชื่อคนที่ดำเนินการตัดถนนนั้นเอง ชื่อเขตต่าง ๆ ในบางกอกก็มีที่มาต่าง ๆ เช่น เขตบางรักได้ชื่อว่าบางรักเพราะเมื่อก่อนมีต้นรักเยอะ (บาง เป็นคำในภาษามอญ หมายถึงชุมชนริมน้ำ) หรือบางขุนนนท์ ที่ตั้งตามชื่อใครสักคนที่เป็นที่เคารพในแถบนั้น

ในงาน ผมยังได้ยินเรื่องซุบซิบ (เขาเรียกกันว่าซุบซิบหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) ว่าข่าวที่หินลูกปัดถูกขโมยไปจากมิวเซียมสยาม (ตอนหลังได้คืน) เป็นแผนการประชาสัมพันธ์หนังสือของเครือมติชน แน่นอนว่าผมไม่ทราบความจริง อย่าเชื่อ

หรือจะเป็นเรื่องบทเรียนในหนังสือของโรงเรียนที่ตั้งโดยผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ (ส.ศิวรักษ์ ซึ่งเคยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เล่า) จะสอนประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่วันที่พระเจ้าสร้างโลก และพยายามไม่เอ่ยถึงการปฏิวัติในฝรั่งเศส (ที่ลดความสำคัญของศาสนจักร) หรือกล่าวถึงนักคิดเช่น วอลแตร์ (ซึ่งโจมตีศาสนจักร) ในทางที่แย่

แม้ตัวอย่างข้างต้นจะฟังดูเป็นตัวอย่างที่ผมแค่ลากถูไถมาประกอบเรื่อง แต่ประเด็นก็คือ เราควรระลึกไว้ตลอดเวลาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นไป มันอาจไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างที่เราเห็นแล้วเข้าใจ หรือถูกเล่าให้ทราบต่อ ๆ กันมา เราต้องพยายามมองทุกสิ่งในเชิงประวัติศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีที่มา ซึ่งอาจจะเต็มไปด้วยเหตุผล การเมือง การแย่งชิงผลประโยชน์จากการใช้สิ่งนั้น หรืออาจจะไม่มีสาระใด ๆ เป็นแค่การสุ่มเลือก ก็เป็นได้ ที่ควรระลึกไว้เช่นนั้นไม่ใช่เพื่อระแวง (ซึ่งจริง ๆ ก็เพื่อให้ระแวงนั่นแหละ แต่ไม่รู้ทำไม ผมรู้สึกว่าคำว่าระแวงมันฟังดูไม่ดี) แต่เพื่อให้สามารถทำใจได้ หรือยอมรับในความคิดเห็นหรือเรื่องเล่าอื่นที่แตกต่างหรือเป็นส่วนน้อย เพราะความจริง (เช่น ข่าว ความรู้ บทเรียนในหนังสือเรียน หรือแม้แต่ความเชื่อทางศาสนา - ใครจะรู้ว่าสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละหนมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง - ถ้าเราจะใส่ใจความสำคัญของหลักธรรมต้นฉบับน่ะนะ) ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ย่อมถูกกำหนดด้วยกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจมากกว่า เราต้องพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเมื่ออำนาจที่ควบคุมความจริงนั้นหมดลงและถูกแทนที่ เพราะหากยึดว่าความจริงคือสิ่งที่มีหลักฐาน มีเหตุผลรองรับชัดเจนแล้ว หลักฐานหรือเหตุผลนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อ เพราะในที่สุดแล้วมันก็ต้องถูกรับรู้โดยเรา (ซึ่งโดยทั่วไปก็ต้องยอมต่ออำนาจ - ซึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงได้) อยู่ดี

ส่วนปัญหาที่ว่า จะเลือกเชื่อสิ่งต่าง ๆ ตามเรื่องเล่าของคนส่วนมากหรือเรื่องเล่าของคนส่วนน้อยดีนั้น ผมเองก็ไม่ทราบ ถ้ายึดตามหลักการจัดสรรผลประโยชน์ของมนุษย์ในปัจจุบัน - หรืออีกชื่อคือ ความดี - ก็คงต้องบอกว่า ควรจะเชื่อมั่นในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก พร้อม ๆ กับที่ไม่ละเมิดสิทธิที่พึงมีของคนส่วนน้อย

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

ขอแนะนำสถานที่น่าสนใจในกรุงเทพมหานครอีกแห่งหนึ่ง (ใช้คำว่า "อีก" ทำให้ฟังดูเหมือนเคยแนะนำไปเยอะแล้ว) นั่นคือ "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก" หรือชื่อตามป้ายบอกทางว่า "Bangkokian Museum" หรือชื่อบนป้ายหน้าพิพิธภัณฑ์เองว่า "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก"

From bangkokian museum

ใช่แล้ว มันตั้งอยู่ในเขตบางรัก ที่ตั้งแบบเจาะจงเข้าไปอีกก็คือ ในซอยเจริญกรุง 43 ซึ่งอยู่ตรงข้ามสำนักงานไปรษณีย์กลาง บางรัก หรือจะให้เจาะจงมากไปกว่านั้นก็คือ ผมนั่งรถเมล์สาย 75 มาจากตรงข้ามสถานีรถไฟ (และรถไฟใต้ดิน) หัวลำโพง นั่งไปตามถนนมหาพฤฒาราม ผ่านโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม แล้วถามคนขับว่า จะไปไปรษณีย์กลาง บางรัก คนขับก็จอดให้ก่อนที่จะถึงสี่แยกไฟแดง แล้วให้ผมเดินต่อไปเองประมาณห้าร้อยเมตร เอาเข้าจริงมันคงมีวิธีเดินทางที่ฉลาดกว่านั้น (เช่น มาจากทางสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาอย่างไรเหมือนกัน) ถ้าดูจากในเว็บ พบว่ารถเมล์จากหัวลำโพงที่ผ่านคือสาย 1 35 และ 75 แล้วก็พยายามไปเองก็แล้วกัน คือไปถึงไปรษณีย์กลาง บางรัก ให้ได้ แล้วพิพิธภัณฑ์จะอยู่ในซอยตรงข้าม

ต้องขยายความเพิ่ม คือตามความรู้สึกผม คนที่จะไปพิพิธภัณฑ์ต้องเดินเข้าไปในซอยเจริญกรุง 43 อย่างมีความหวัง หรืออย่างมีความมั่นใจ คือมันมีป้ายที่ปากซอยว่าไอ้แบงขอกเคี่ยนมิวเซี่ยมเนี่ยอยู่ลึกเข้าไปสองร้อยกว่าเมตร ผมเดินเข้าไปสักพักแล้วก็ยังไม่เห็นสัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่ามันมีพิพิธภัณฑ์อยู่ เดินมาเป็นระยะทางเท่าไรก็เสือกไม่ได้นับ แต่อย่ากลัว ขอให้เดินต่อไป ผ่านบริเวณใต้ทางยกระดับแล้วดูทางขวามือ ถ้าเจอรั้วที่มีต้นไม้ขึ้นเขียว ๆ ล่ะก็ ใช่เลย (เอาตามประสบการณ์ คือผมถามแม่ค้าขายข้าวที่อยู่ระหว่างทาง แล้วเธอบอกว่า "เดินเข้าไปอีก ดูเขียว ๆ ไว้" ตอนแรกก็งงว่าเขียวอะไรวะ)

พิพิธภัณฑ์นี้จริง ๆ แล้วเป็นบ้านของรองศาสตราจารย์วราพร สุรวดี รู้สึกว่าได้กรุงเทพมหานครมาช่วยจัดการตบแต่งให้ดูเป็นพิพิธภัณฑ์ มีพวกข้าวของเครื่องใช้จากรุ่นยายของยาย (คือผมกะเอาว่าเจ้าของบ้านน่าจะเป็นรุ่นยายผมได้ แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่าของพวกนี้ก็ตกทอดมาจากแม่จากยาย) บรรยากาศในบริเวณพิพิธภัณฑ์นั้นร่มรื่นมาก ของที่จัดแสดงไว้ก็น่าสนใจ ว่าง ๆ ก็ลองแวะมาดูกันนะ

ดูรูปด้านในเลยจ้ะ

ภาพจากฮ่องกง

เรื่องจากฮ่องกงมันชักจะเยอะไปแล้ว ผมบ้าเห่อมากเพราะมันเป็นครั้งแรกที่ได้ไปต่างประเทศ เอารูปมาแปะ

ถูกกักตัวตรวจหวัด

From hong kong

นั่งรถเมล์จากสนามบินไปโรงแรม

From hong kong

โรงแรม

From hong kong

วิวจากห้อง

From hong kong

รถไฟใต้ดิน

From hong kong

โผล่ขึ้นมาที่ม่งก๊ก

From hong kong

ห้ามต่อราคา!

From hong kong

ฮ่องกงฟุต (ฟีต)

From hong kong

หลง ถามทาง

From hong kong

ตู้โฆษณาลิโล่แอ่นด์สทิทช์แถว ๆ จิมซาโจ่ย (มีกล้องซ่อนอยู่ แล้วโปรแกรมจะเอาหูมาเติมให้คนในวิดีโอ ป้าฝรั่งข้างหลังชอบใจมาก)

From hong kong

กินแถว ๆ ถนนเท็มเพิ่ล

From hong kong

ฝั่งฮ่องกง จากแอฟนู่ว ออฟ สตาร์สฺ

From hong kong

นั่งเรือข้ามไปฝั่งเกาะฮ่องกงมันซะเลย!

From hong kong

เกาะบันไดเลื่อนขึ้นเขา

From hong kong

วัดชื่อเมามัน หรือมันโม หรือโมมัน อะไรสักอย่าง

From hong kong

ป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดิน

From hong kong

รอเครื่องบินกลับราชอาณาจักร

From hong kong

ดูเพิ่มเติมได้ในอัลบั้ม

ยี่สิบเอ็ดปีในฮ่องกง

ต่อจากตอนที่แล้ว ตื่นเช้าวันที่ยี่สิบสามก็ลงมากินข้าว กลับขึ้นไปอาบน้ำ แล้วก็ลงมาที่ห้องอบรม

พบว่ามีคนมาเพิ่ม พบว่ารวมทั้งหมดมาจาก 7 เชื้อชาติด้วยกัน ได้แก่ ผมและพี่จิ จากทีมชาติไทย แซม โซ ทิน นี และโซ (อีกคน) ทีมชาติพม่า แทน โฮจิ และแอนเจลิน่า ทีมชาติเวียดนาม (มีแต่ประเทศที่ประชาธิปไตยเจริญแล้วทั้งนั้น) ที่กล่าวมาคือผู้รับการอบรม วิทยากรมีสองคนคือ บ็อบบี้ จากฟิลิปปินส์ และ ริค จากสหรัฐฯ (แต่เป็นคนสเปน) และคนจัดงานคือ ลินด์ซี่ จากสหรัฐฯ และแคโรไลน์ จากสหรัฐฯ (แต่เป็นคนเดนมาร์ก)

ก็นั่งอบรมไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องโปรแกรม หลักการต่าง ๆ พักเที่ยง แล้วก็ขึ้นมาอบรมต่อจนถึงราวหกโมงเย็น ก็ออกไปกินอาหารจีนกัน

ที่โต๊ะอาหาร เฮฮามาก ประเทศแถบ ๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันก็มีความหลากหลายมากอยู่แล้ว แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างสนุกสนาน เช่น การไขว้นิ้ว ในเวียดนามหมายถึงเซ็กซ์ ในพม่าหมายถึงเพื่อนสนิท ในชาติตะวันตกหมายถึงขอให้โชคดี เรื่องอาหาร เช่น "ซุปนัมเบ้อร์ไฟ้ฟ์" ในฟิลิปปินส์ คือซุป "ไอ้นั่น" ของวัว หรือทุเรียน ที่ครึ่งโต๊ะบอกว่าเหม็นมาก แต่อีกครึ่งโต๊ะบอกว่าหอมมาก ไปจนถึงเรื่องภาษา ที่คนฟิลิปปินส์ทางเหนือจะไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นของทางใต้เลย ต้องคุยภาษาอังกฤษกัน

เป็นวันเกิดที่เยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่ง ได้ฟังเพลงอวยพรทั้งภาษาสแปนิช และเดนิช

ไปเกรียนที่ฮ่องกง (ตอนที่ 2)

คลิกอ่านตอนที่แล้ว

[ตรงนี้กรุณานึกภาพเป็นสีขาวเทาดำ]

ผมได้รับการติดต่อจากเอ็นจีโออเมริกันนี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งก็บอกให้กรอกเอกสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แล้วส่งกลับไปพร้อมประวัติส่วนตัวอย่างย่อ และสำเนาหนังสือเดินทาง

ผมส่งเอกสารทั้งหมดกลับไปในวันที่ 11 มิถุนายน แล้วก็รอการตอบกลับ 7 วันผ่านไปก็ยังคงไม่มีการตอบอะไรกลับมาจากทางโน้น ไม่มีตั๋วเครื่องบิน ไม่มีตารางเวลา ไม่มีสถานที่ ด้วยความเกรงใจ ผมจึงส่งอีเมล์ถามอ้อม ๆ ไปว่า เห็นก่อนหน้านี้พูดว่าจะกินมื้อเย็นด้วยกันในวันที่ 22 มิถุนายน ไม่ทราบว่าจะไปกินกันที่ไหน ผมจะได้วางแผนการเดินทาง

อีเมล์ตอบกลับมามีใจความแค่ว่า ก็เจอกันที่ล็อบบี้เย็นวันนั้น แล้วก็เดินไปกินกันใกล้ ๆ โรงแรมนั่นล่ะ

แล้วมันโรงแรมไหนกันล่ะเหวย ผมค้นอีเมล์เก่า ๆ ดู ก็ไม่พบว่าเขาเคยเอ่ยถึงโรงแรมไหน ดูในกล่องจดหมายขยะก็ไม่มี

เลยส่งอีเมล์ถามกลับไปอีกว่า เอ่อ แล้วมันโรงแรมไหนกันล่ะครับ

เขาก็ตอบกลับมาว่า อ้อ พักที่โรงแรม Habour Plaza นะ แล้วก็บอกการเดินทางมาเสร็จสรรพ

แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องตั๋ว

ดีที่พี่จิโทรไปถามที่สายการบิน พบว่าได้มีการจองตั๋วไว้ให้แล้ว ก็โล่งอกไปหน่อย

พบว่าทางโน้นส่งรายละเอียดเรื่องตั๋วมาให้ตอนตีหนึ่งห้าสิบ ตามเวลาประเทศไทย นั่นคือราวเก้าชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องขึ้น

ตัดกลับมาที่หน้าโรงแรม [ภาพสี]

พวกเราทีมชาติไทยก็เดินเข้าไปติดต่อพนักงาน แอบหวั่นใจว่า ถ้ามันเกิดปัญหา เช่น ทางโน้นยังไม่ได้ติดต่อ หรือยังไม่มา จะทำยังไง พนักงานรับหนังสือเดินทางไปดู ค้นข้อมูล แล้วเงยหน้าขึ้นมาตอบว่า

"เอ่อ ชื่อพวกคุณอยู่ในรายการนะครับ แต่ว่าเริ่มพักวันพรุ่งนี้"

เวร

ก็มองหน้ากัน ประมาณว่า กูนึกแล้ว

"แต่ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวทางเราเปิดห้องให้ก่อน เข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องความแตกต่างของเวลาระหว่างทางนี้กับทางโน้น (สหรัฐฯ) เพราะก่อนหน้านี้ก็มีคนในกลุ่มคุณ เป็นชาวพม่า เจอปัญหานี้เหมือนกัน"

ผมถามว่า ได้เจอผู้ประสานงาน (จากสหรัฐฯ) หรือยัง

"ทั้งเรา (โรงแรม) และบริษัททัวร์ ก็กำลังพยายามติดต่อเขาอยู่ครับ แต่ยังติดต่อไม่ได้เลย ในห้องก็ไม่อยู่"

เยี่ยม!

ไม่เป็นไร ก็เอาของขึ้นไปเก็บบนห้อง แล้วลงมาที่ล็อบบี้ เพื่อจะไปเดินชมเมือง และ (ด้วยความเศร้า) หาข้าวกิน

ก่อนไปก็เกิดไอเดีย ชวนเพื่อนชาวพม่าไปด้วยกันดีกว่า ว่าแล้วก็ขอเบอร์ห้องจากพนักงาน (พนักงานจำชื่อกับเบอร์ห้องของเพื่อนชาวพม่าได้โดยไม่ต้องดูเอกสาร เขาบอก "เป็นกรณีพิเศษ ผมเลยจำได้แม่น") แล้วก็โทรขึ้นไป เขาบอกว่าอีกสิบห้านาทีเจอกัน

เมื่อเพื่อนชาวพม่าสองคนลงมา ก็แนะนำตัวกัน ชื่อ แซม กับ โซ พบว่านั่งเที่ยวบินเดียวกันมาจากกรุงเทพ แต่เขามาถึงก่อนเพราะผมติดด่านไข้หวัดนั่นเอง

ก็คุยกันว่าเอาไงดี เพื่อนชาวพม่าของเราก็ไม่ได้ทราบข้อมูลอะไรมากไปกว่าเรา และได้ตั๋วเครื่องบินในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ในคืนก่อนหน้านี้เอง

ก็ตกลงกันว่า งั้นไปเดินเล่นสักชั่วโมงค่อยกลับมา ถ้าคนจัดงานยังไม่มาค่อยไปหากินกันเอง ตอนคุยกันเรื่องเวลา ผมควักโนเกีย 3110c ออกมาดูเวลา ส่วนแซม เพื่อนชาวพม่าของผม ควักไอโฟนออกมา

ก็ออกไปเดินชมอ่าว ชมเมือง แซมบอกว่า ซื้อซิมการ์ดมาดีกว่า ใส่มือถือไว้แล้วไปบอกเบอร์กับพนักงานโรมแรม เมื่อคนจัดงานมาถึงจะได้โทรหาพวกเราได้ แล้วก็เข้าไปซื้อในเซเว่นอีเลเว่น

เป็นโทรศัพท์ของผม ที่ได้ใส่ซิมการ์ดอันนั้น เพราะแซมบอกว่า (พลางควักไอโฟนขึ้นมากระดิก) "ของผมมันถอดซิมลำบากน่ะ"

เมื่อกลับไปทิ้งเบอร์ไว้ที่โรงแรมเสร็จ ก็ออกมาหาข้าวกิน กำลังนั่งกินอยู่ (ตอนนั้นสองทุ่มพอดี) ก็มีคนโทรเข้ามา

ใช่แล้ว คนจัดงานกลับมาแล้ว และยังมีเพื่อนชาวพม่าอีกสามคนรออยู่ที่โรงแรม

เมื่อกินเสร็จ ก็เดินกลับไป แนะนำตัวกัน นัดหมายถึงวันรุ่งขึ้น (ยังไม่ได้กำหนดการ) แล้วก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

ไปเกรียนที่ฮ่องกง (ตอนที่ 1)

ต้องขอบคุณพี่จิ๋วเป็นอย่างสูงที่ทำให้ผมกำลังนั่งเขียนบล็อกนี้ในห้อง 543 ที่โรงแรม Harbour Plaza บนฝั่งเกาลูน ฮ่องกง

ตอนนี้เที่ยงคืนที่นี่ หรือห้าทุ่มที่ไทย ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ (ราวตีสองของวันที่ 22 มิถุนายน) ผมกำลังนั่งยัดของใส่กระเป๋าด้วยความตื่นเต้น ที่จะได้ขึ้นเครื่องบินของสายการบินคาเธ่ย์ แพซิฝิค ไปร่วมงานอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสื่อพลเมืองที่ฮ่องกง ซึ่งจัดโดยเอ็นจีโอองค์กรหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา

ราวเก้าชั่วโมงต่อมา ผมอยู่เหนือน่านฟ้าเวียดนาม นั่งกรอกใบสำรวจสุขภาพของผู้ที่กำลังจะเดินทางเข้าฮ่องกง

เมื่อถึงสนามบิน ก็เดินเข้าไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง พี่จิที่มาด้วยกันยื่นใบสำรวจสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ แล้วก็ผ่านเข้าไป พอถึงตาผม เจ้าหน้าที่เหลือบมองเอกสารแวบหนึ่ง แล้วหันมาถามว่า "ยู แฮฟ ดิส ซิมท้อมพ์?" ไม่ได้สงสัยอะไร ผมตอบ "อ่า... เยส" เจ้าหน้าที่ยกมือขึ้นมา "ผลีส สเตย์ เฮียร์"

เวร

ด้วยความจริงใจ ตรงช่องสำรวจอาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัด 2009 ผมเสือกติ๊กช่อง "Runny Nose" ไป เนื่องจากเป็นคนที่น้ำมูกไหลตอนเช้าอยู่แล้ว

"ยู กอทท่า ซี เดอะ ด็อกเท่อร์"

ไม่ต้องหันไปมองก็รู้ว่าพี่จิคงจะด่าผมอยู่ในใจ

ราวกับอ่านใจได้ เจ้าหน้าที่หันไปบอกพี่จิ "โด๊นท์ วอร์รี่ จัสท์ วัน มินิท" แล้วก็พาผมลงไปชั้นล่าง ระหว่างเดินก็ยื่นหน้ากากให้สวม

นั่งรอสักพักก็ถึงคิวตัวเอง เข้าไปหาหมอ หมอเอาอุปกรณ์วัดไข้มาใส่เข้าไปในหู วัดทั้งสองข้าง ให้ดูอุณหภูมิว่าเป็น 37 องศาพลางยิ้มให้ จากนั้นก็ไปอีกด่านหนึ่ง เจอหมออีกคน ให้ตอบคำถามพวก เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ไหน สัปดาห์หน้าอยู่ที่ไหน คนใกล้ตัวมีอาการไหม ฯลฯ จากนั้นก็ให้เอกสารเกี่ยวกับคลินิกต่าง ๆ ที่สามารถเข้าไปตรวจหวัด 2009 ได้ฟรีถ้ามีอาการ แล้วหันมายิ้ม "ยู แคน คอนทินิว ยัวร์ ทริป, แฮฟ อะ ไน้ซ์ ทริป!"

ไอ้ "จัสท์ อะ มินิท" ตะกี้มันปาเข้าไปเกือบครึ่งชั่วโมง กลับขึ้นมาก็ขอโทษขอโพย แล้วก็ไปเอากระเป๋า จากนั้นก็เดินไปซื้อบัตรเงินสด Octopus ที่ใช้แทนเงินได้กับการขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่เซเว่นอีเลเว่น ถามเจ้าหน้าที่ว่าจะนั่งรถประจำทางสายไหนไปโรงแรมได้บ้าง เขาก็บอกมาว่าสาย E23 แล้วเขียนภาษาจีนมาให้ด้วย บอกว่าไว้ให้คนขับดู

พอขึ้นรถ แปะกระเป๋าตัง เงินถูกหักไป 18 เหรียญฮ่องกง ยื่นกระดาษบอกสถานที่ให้คนขับ คนขับดันทำหน้างง ๆ ดูไม่ค่อยสนใจ ไม่เป็นไร กูดูถนนเองก็ได้ แล้วก็ขึ้นไปนั่งชั้นสอง

พบว่าสนามบิน เช็คแลพก็อก (อ่านงี้หรือเปล่าหว่า) มันกว้างมาก รถก็เลี้ยวไปเลี้ยวมาอยู่นั่น ประมาณยี่สิบนาทีจึงจะเริ่มออกนอกเขตสนามบิน มุ่งตรงสู่อุโมงค์ลอดใต้ภูเขา

พอพ้นอุโมงค์เท่านั้นล่ะ น่าตื่นเต้นมาก ตอนก่อนข้ามสะพานพบว่าแถวนั้นมีแต่ตึกกับกองตู้คอนเทนเน่อร์ เรียกได้ว่าถ้าจะมีหุ่นยนต์มาเดินก็คงไม่น่าประหลาดใจ จากนั้นก็มาถึงฝั่งเกาลูน สองฝั่งได้อารมณ์เยาวราชมาก ระหว่างนั่งรถอยู่ก็พยายามมองชื่อถนนรอบ ๆ แล้วเทียบกับแผนที่ แต่ก็ไม่เจอ หรือไม่ก็เจอเมื่อผ่านถนนนั่นมาแล้วสักพัก จนเห็นป้ายใหญ่ ๆ ว่า Whampoa อะไรสักอย่างนั่นล่ะ จึงรีบลงไปถามคนขับ เพราะดูในแผนที่มันใกล้ถึงโรงแรมแล้ว คนขับก็บอก "เย่ เน็กซท์ สต็อป" แล้วก็จอด

ลงมาเดิน อ่านป้าย แล้วก็เดินตามป้ายไปจนถึงหน้าโรงแรม

ต่อตอนหน้า

เส้นเอ็นหัวเข่าอักเสบ

วันก่อนตื่นมาพบว่าเข่าซ้ายตนเองมันติด ๆ ขัด ๆ นึกถึงอารมณ์ว่า ข้อศอกฝืด ๆ แล้วต้องสะบัดยืดออกไปให้มันดัง แกร๊บ น่ะ แต่ปัญหาคือสะบัดขาแล้วมันไม่ยอมหายฝืด

เมื่อวานมันก็เริ่มแปล๊บ ๆ ตึง ๆ เลยไปหาหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าไปบ่ายเกิน หมอเฉพาะทางไม่อยู่ ต้องนัดใหม่มาตอนเช้าวันนี้

วันนี้เลยไปตรวจมา รับบัตรคิวตอนแปดโมงนิด ๆ ได้ตรวจตอนสิบโมงครึ่ง หมอกดไปกดมาไปโดนเส้นเอ็นด้านข้างหัวเข่าด้านใน ร้องอ๊างเลย วินิจฉัยว่าเส้นเอ็นอักเสบ ได้ยามากิน

ปัญหาก็คือ ไม่รู้ว่าตอนนี้อาการมันแย่ลงหรือดีขึ้น แต่ว่ามันจะจั๊กกะจี้ปนเสียว ๆ ตลอด เสียสมาธิมาก คือมันขำ ๆ เจ็บ ๆ สับสนในตัวเอง

สงสัยว่านั่งหน้าคอมตลอด ทำไมเส้นเอ็นหัวเข่าอักเสบได้วะ