ภาษาไทยที่บกพร่อง ต้องแก้ไข

ที่คณะมีชั้นสำหรับแลกเปลี่ยนหนังสืออยู่ คือ ใครอยากได้เล่มไหนก็เอาเล่มของตัวเองมาแลกไป หรือใครอยากเอามาวางให้ไว้เฉย ๆ ก็ได้

วันนี้เดินผ่าน สะดุดตากับเล่มนี้

ภาษาไทยที่บกพร่อง ต้องแก้ไข เล่มที่ 1

ถูกใจมาก อยากได้มาก เปิดดูผ่าน ๆ ยิ่งชอบ เป็นการรวมข้อความที่ใช้ภาษาไทยบกพร่อง พร้อมแหล่งอ้างอิง เช่น ใครพูด หรือจากหนังสือพิมพ์อะไร แล้วก็บอกว่าควรแก้ไขอะไรด้วยเหตุผลอะไร

จริง ๆ แล้วจะเรียกข้อความเหล่านั้นว่าเป็นภาษาไทยที่บกพร่องมันก็แปลก ๆ นะ อย่างน้อยก็ต้องบอกว่าบกพร่องเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ได้บกพร่องในแง่การสื่อความหมายแน่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผมว่ามันน่าสนใจตรงที่คนที่ถือว่าตัวเองคอยบัญญัติหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในภาษาไทยอย่างราชบัณฑิตยสถานจะมีเหตุผลอย่างไรบ้างในการประเมินข้อความใด ๆ ว่าใช้ภาษาไทยบกพร่อง แล้วยังรู้สึกได้ว่าคนเขียนนี่โคตรขยันเลย (มีหลายข้อความในเล่มที่ลงที่มาว่ามาจากรายการวิทยุ)

อยากได้มาก แต่วันนี้ไม่มีหนังสือมาแลก เลยขอยัดเล่มนี้กลับเข้าไปในกองแบบ ลึก ลึก หน่อยก็แล้วกัน (ฮา)

ห้ามข้าม

หญ้าบนเกาะกลางถนนที่มหาวิทยาลัยกำลังงอกงาม งอกงามจนคนดูแลคงจะกลัวคนมาเหยียบให้เหี่ยวเฉา เลยเอาเชือกมาขึงตลอดแนวยาวมาก เว้นแค่จุดที่มีอิฐปูให้ข้าม

ทีนี้ อะไรน่าดูกว่ากัน ระหว่างเกาะกลางถนนที่หญ้าถูกคนเดินเหยียบบ้าง กับเกาะกลางถนนที่มีเชือกเส้นโต (สีน้ำเงินซะด้วย) ขึงสูงระดับเอวตลอดแนวยาว

ทบทวนวรรณกรรม

ผมยึดอยู่กับตัวเองว่าการทบทวนวรรณกรรม (literature review - การหาว่ามีใครทำงานอะไรเกี่ยวกับหัวข้อที่เราจะทำมาแล้วบ้าง) เป็นขั้นตอนที่โคตรสำคัญในการทำงานวิจัย เพราะเราจะไปทำงานซ้ำกับคนอื่นทำไม ไม่มีประโยชน์ สมัยนี้มี Google Scholar โคตรสบาย เวลามีคนถามว่า ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเรอะ จะได้ตอบได้ไม่ต้องอาย

เมื่อก่อน เวลามีคนถามว่าทำโปรเจคท์เกี่ยวกับอะไร ก็จะตอบยากหน่อย บางทีขี้เกียจก็บอกว่า "เกี่ยวกับรูปภา่พในเว็บน่ะ" (แล้วคนจะไม่ค่อยถามต่อ) ตอบสั้น ๆ จริง ๆ ก็คือ "พยายามกำจัดรูปที่ไม่จำเป็นออกไปจากหน้าเว็บ"

มาวันนี้ (จริง ๆ ต้องบอกว่าตั้งแต่ชั่วโมงที่แล้ว) ผมตอบได้อย่างง่าย ๆ แต่ขมขื่นว่า "อ๋อ งานเราก็คล้าย ๆ printfriendly.com อะ"

OTZ <----กรุณาดูให้เป็นรูปคนคุกเข่า มือยันพื้น แบบ "สิ้นหวังแล้ว"

จริง ๆ ก็ไม่คล้าย คือของเขาดีกว่าด้วยซ้ำ (พับผ่า) เพราะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อย สวยงาม พร้อมใช้ เว็บนั้นทำหน้าเว็บให้เหมาะกับการพิมพ์ลงกระดาษ คือเลือกมาเฉพาะข้อความและรูปที่สำคัญจริง ๆ

ถ้าจะคิดเข้าข้างตัวเองหน่อยก็คือ เขาไม่บอกวิธีการ แต่ผมตีพิมพ์มันออกมาให้คนได้รู้ (และใช้งานได้กว้างกว่าการพิมพ์ลงกระดาษ) และนั่นก็เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ เพราะตอนทำทบทวนวรรณกรรม ผมไม่ได้ใส่ใจหา "ของจริง" มาอ่านมาดูเลย มัวแต่หาบทความวิชาการมาอ่าน ซึ่งก็โอเคว่ามันมีข้อมูลให้พัฒนาต่อได้ แต่พวกเอกชนที่ทำแต่ไม่เผยแพร่แนวคิดก็มีเหมือนกัน และสมควรศึกษาพอ ๆ กัน

นี่ยังรู้สึกดีหน่อยเพราะงานผมเริ่มทำตอนช่วงปลายมีนาคมปีที่แล้ว ส่วนเว็บนี้ถูกกล่าวถึง (เท่าที่หาเจอ) เป็นครั้งแรก ๆ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ที่ mashable.com กับ makeuseof.com (แต่เจ้าของจดทะเบียนชื่อเว็บไว้ตั้งแต่กลางปี 2006 แฮะ ซุ่มจริง) เข้าเกณฑ์ ไม่รู้ย่อมไม่ผิด (ฮาแบบเศร้า ๆ)

หนุ่มสาวเอย พวกเธอว์จงทบทวนวรรณกรรม! และอย่าลืมหา "ของขาย" (commercial product) มาดูด้วย!

The Only Good To-Do List Is A Written One

ผมเป็นคนที่ใช้ to-do list อย่างไม่สม่ำเสมอ แล้วแต่ปริมาณงาน และความขี้เกียจ วิธีการก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

แรก ๆ พยายามใช้ Google Calendar เพราะส่ง sms เตือนฟรี แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้เรื่อง ต้องเข้าเว็บแถมไม่ได้เห็นตลอดเวลา เข้าทาง Aus den Augen, aus dem Sinn ส่วน sms ที่ปกติเอาไว้เตือนเหตุการณ์ทั่วไปพอเอามาใช้กับงานก็ช้าเกิน (ตั้งให้ส่งล่วงหน้า 1 วัน) จะตั้งให้ส่งล่วงหน้าหลายวันก็ลืม ให้ส่งหลายรอบก็รำคาญ สรุปใช้สมุดจด (ใช้มือถือไม่ได้ กากเกิน ยังจอขาวดำอยู่เลย)

พอปลายปี 2008 บังเกิด Google Tasks ก็พอใช้ได้เพราะไปอยู่หน้า GMail ด้วย แต่ต้องเข้าเว็บอยู่ดี ใช้สมุดจดต่อไป

มีนาคม 2009 ใช้ Google Calendar แบบ offline ได้ โอเคมากขึ้น แต่ต้องเปิด Firefox อยู่ดี ยังใช้สมุดจดเป็นหลัก

จนซื้อมือถือใหม่นี่แหละ รู้สึกจะเดือนเมษายน ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ เข้า GCal/GTasks ก็ได้ เขียน to-do ไว้บนหน้าจอก็ได้ แทบจะไม่ได้ใช้สมุดแล้ว

แต่ปัญหาก็คือ บางทีผมเชื่อมั่นใน to-do list มากไป ทำธุระที่จดไว้แล้วก็หลงดีใจ หารู้ไม่ว่ามีบางอย่างที่ลืมจดลงไปตั้งแต่แรก ทำชีวิตน่าเศร้ามาหลายหนแล้ว นี่คือปัญหาสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด ทำไงดี

ความบิดเบือนจากสำนวนแปลบางข่าวของมติชน

ก่อนอ่านโพสท์นี้ ถ้าจะกรุณาอ่าน

"นศ.เคมบริดจ์"ถ่ายหวิวลงเว็บ นสพ.มหา′ลัย ..พิสูจน์แม้เรียนเก่ง ฉันก็"สวยเซ็กซี่"ได้นะยะ!!!!

กับ

Tab Totty is back: Cambridge undergraduates strip to their bikinis for controversial student newspaper

ก็จะพอเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่อ่านก็ได้

เนื้อความคร่าว ๆ ในข่าวต้นฉบับก็คือ มีสาวเคมบริดจ์ถ่ายภาพชุดว่ายน้ำขึ้นหน้าแรกของเว็บไซ้ท์หนังสือพิมพ์นักศึกษา มีบทสัมภาษณ์เธอเล็กน้อย และความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย

ต้องบอกไว้ก่อนว่า ผมไม่รู้เลยว่าใครแปล มีจุดประสงค์ในการแปลอื่นนอกจากเผยแพร่ข่าวตามปกติหรือไม่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาแปลมาจากต้นฉบับที่ผมยกมา (ของ Daily Mail) หรือเปล่า ผมคิดเอาเองจากข้อสันนิษฐานดังนี้

  • เรื่องที่มา ผมลองหาข่าวนี้อ่านจากสองสามเจ้า โดยหาใน Google ด้วยคำค้น "brittany cambridge sexy photo shoot" (สาวเจ้าชื่อบริททานี่ย์น่ะนะ) เจอที่ Metro, Newstin (อ้างของ Metro) และ Daily Mail แล้วมีแค่ที่ Daily Mail ที่มีคำสัมภาษณ์ ลองเทียบประโยคดูก็มีตรงบ้าง
  • น่าจะเป็นค่านิยม (หรือความเชื่อว่ามันควรจะเป็นค่านิยม) ในประเทศไทยว่าคนที่เรียนมหาวิทยาลัยไม่ควรจะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ส่วนเหตุผลว่าทำไมวะนี่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจ)

ถ้าจะวิจารณ์เรื่องค่านิยมเกี่ยวกับความประพฤติของคนเรียนมหาวิทยาลัยก็จะยาวไป และผมอาจจะไม่มีความสามารถพอ จึงขอพูดแต่เรื่องสำนวนแปลอย่างเดียว

เข้าประเด็น ขอยกคำแปลคำสัมภาษณ์บางส่วนจากมติชน

"ส่วนสาเหตุที่เลือกฉากถ่ายทำเป็น 'ผับ' นั้น บริททานี่ กล่าวว่า เป็นเพราะเธออยากอยู่ในบรรยากาศแบบอังกฤษดั้งเดิม พร้อมยืนยันด้วยว่า เธอชอบดื่ม 'ช็อคโกแลตร้อน' และไม่ดื่มของมึนเมา"

เทียบกับต้นฉบับ

"She says she chose a pub because she wanted to appear in a traditional English setting and used a hot chocolate instead of alcohol to build up some Dutch courage. 'I considered beer but I thought at 11 in the morning I would probably barf,' she added."

ถ้าเป็นผมแปล จะแปลว่า "เธอกล่าวว่าที่เลือกฉากเป็นผับก็เพราะว่าอยากให้มันได้อารมณ์อังกริ๊ด-อังกฤษ เธอดื่มช็อคโกแลตร้อนย้อมใจแทนที่จะดื่มเหล้า 'ตอนแรกฉันก็ว่าจะดื่มเบียร์ แต่ตอนสิบเอ็ดโมงนี่เดี๋ยวอ้วก' เธอเสริม"

พอได้อ่านต้นฉบับก็บังเกิดความคิดว่า "ตรงไหนวะ ที่ว่าชอบช็อคโกแลตร้อน ตรงไหนวะที่บอกว่าไม่ดื่มของมึนเมา"

ส่วน Dutch courage มันหมายถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อเสริมความมั่นใจ (หรือลดความอาย) เข้าใจว่าคนแปลไม่ทราบจึงไม่ได้ใส่มาในคำแปล ผมเองก็เพิ่งทราบเมื่อลองเปิดพจนานุกรมดู

จะเห็นได้ว่าฉบับแปลนั้น นอกจากความหมายบางอย่างจะตกไป ยังมีการเติมความคิดเห็นส่วนตัวด้วย ตรงนี้ผมคิดเอาเองว่าเป็นความพยายามที่จะสนับสนุนค่านิยมที่ว่าคนที่เรียนมหาวิทยาลัยไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยทำให้ภาพของแม่สาวบริททานี่ย์กลายเป็นว่า แม้จะดู "ใจกล้า" "หัวสมัยใหม่" "ขบถ" อย่างที่คนวัยเรียนมหาวิทยาลัยน่าจะนิยม ก็ยังปฏิเสธเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ใช้คำว่า "ยืนยัน" ว่าไม่ดื่มของมึนเมา)

อยากถามคนแปลมากว่า เพื่ออะไร ไม่ถามถึงเรื่องค่านิยมนั่นก็ได้ ถามแค่ว่า แปลไม่ครบ แถมข้อความ เพื่ออะไร ที่มาของข่าวก็ไม่ได้ให้มา (เข้าใจว่าจริง ๆ ก็ไม่จำเป็น เพราะข่าวเป็นของสาธารณะ? แต่แหม น่าจะให้โอกาสคนอ่านได้ฉลาดบ้างว่าแปลมามั่วหรือเปล่า)

แน่นอน ไม่ใช่ผมที่จะไปตัดสินว่าควรแปลอย่างไหน แต่มันบอกได้ว่าในต้นฉบับไม่ได้ตัดสินความสมควรไม่สมควรของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างในฉบับแปลแน่ ๆ

จริง ๆ มีประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับสำนวนแปลข่าวนี้อีก ต้องลองอ่านเทียบกันทั้งข่าวดู

อ้อ อีกประเด็น (นอกเรื่อง) คือ ทั้งสวย ทั้งฉลาดเนี่ย ผมว่ามีเยอะแยะไป ;)

ใครบอกว่าอะไรที่ปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วจะไม่หายไป

ผมเคยดูโฆษณารณรงค์การยั้งคิดก่อนโพสท์อะไรลงไปบนอินเทอร์เน็ต เป็นหญิงสาวคนหนึ่งนำภาพส่วนตัวของตัวเองไปแปะไว้ที่บอร์ดโรงอาหาร (เปรียบเป็นอินเทอร์เน็ต) ต่อมาพบว่าใคร ๆ ก็มาดึงรูปนั้นไป โดยที่รูปเดิมยังคงอยู่ เธอเริ่มรู้สึกอาย จะพยายามมาดึงออกไปแต่ก็ไม่สำเร็จ รูปนั้นยังคงอยู่บนบอร์ดต่อไป

ผมเองก็เชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอด ว่าความรู้ที่เคยมีใครเผยแพร่ไว้ในอินเทอร์เน็ตเนี่ย มันน่าจะมีคนทำซ้ำไว้เรื่อย ๆ จนไม่มีวันหายไป

แต่มันก็อาจไม่จริงเสียแล้ว

พอดีว่างานที่ทำอยู่ส่วนหนึ่งต้องพยายามนับหน้าคนในรูปภาพด้วย JavaScript (หรือไม่ก็ใช้ไฟล์ไบนารี่แค่ไฟล์เดียวให้ได้ ซึ่งยังทำไม่ได้ เพราะใช้ OpenCV มันต้องไปเรียกไลบรารี่อะไรวุ่นวายไปหมด ไม่รู้จะจับยัดเป็นไฟล์เดียวยังไง) ไอ้เราขี้เกียจทำเอง ก็เลยถามองค์พ่อกูเกิ้ล ท่านก็ชี้ทางไปที่ http://blog.kpicturebooth.com/?p=8 ไอ้เราก็ย่ามใจ พอกดเข้าไปดู พบว่าเว็บนั้นมันไม่มีอยู่จริงซะแล้ว

ไม่เป็นไร มันน่าจะมีคนอื่นก๊อปปี้ไว้บ้าง ก็ลองค้นดู พบว่า ทุกคน แม่งชี้ไปที่เว็บนั้นอย่างเดียวเลย ประมาณว่าเขียนบล็อกไว้สั้น ๆ "เฮ้ยมีคนทำ face detection ด้วย JavaScript ได้ว่ะ เจ๋งดี ตามไปอ่านที่นี่นะ" แล้วก็ใส่ลิ้งค์ไว้ แค่นั้น ไม่มีใครทำซ้ำไว้เลย (อย่างน้อยเท่าที่หามาหลายชั่วโมงนี่ก็ยังหาไม่เจอ)

ถึงกับเซ็ง

ตอนนี้มีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ลิบ ๆ คือมีคนเอาโค้ด (ที่หายไปแล้วนั่น) มาลอกเป็นภาษา PHP สงสัยจะต้องเอามันมาแปลงกลับเป็น JavaScript อีกครั้งหนึ่ง

ต้องทำปุ่ม archive ไว้แล้วมั้ง เจออะไรดี ๆ ก็กดปุ๊บ ดูดไปเก็บไว้สักที่ปั๊บ

การ retweet อย่างฉลาด (ถ้าจะ retweet คุยกันให้ได้น่ะนะ!)

หากใครไม่รู้จัก twitter จงเข้าไปสมัคร แล้วมาฟอลโล่ว์ @tewson

หากใครไม่รู้จักการ retweet มันคือการส่งต่อข้อความที่เราพบจากคนที่เราฟอลโล่ว์อยู่ ไปให้คนที่ฟอลโล่ว์เราอยู่ เช่น

A ฟอลโล่ว์ B และ C อยู่

D และ E ฟอลโล่ว์ A อยู่ แต่ไม่ได้ฟอลโล่ว์ B และ C

B ทวีตว่า "ไฟไหม้อ่างเก็บน้ำที่ถนน x"

A เมื่อเห็นทวีตของ B อยากให้คนอื่นรู้ด้วย ก็เลยทวีตว่า "rt @B: ไฟไหม้อ่างเก็บน้ำที่ถนน X"

เท่านี้ D และ E ที่ฟอลโลว์ A อยู่ ก็จะเห็นข้อความ และทราบด้วยว่าใครเป็นต้นฉบับ

หากใครไม่รู้จักการ reply มันคือการตอบทวีตคนอื่น ในหน้าเว็บสามารถทำได้โดยกดปุ่ม reply แล้วพิมพ์ข้อความตอบกลับ ข้อดีของการกดปุ่ม reply นั้นคือ ทวีตของเราที่ reply คนอื่นนั้น จะมีลิ้งค์ให้กดไปดูได้ว่า reply ข้อความอะไร

ทีนี้ ก็มีความนิยม (ที่ผมเห็นว่า) ประหลาด ๆ อยู่อย่างหนึ่ง ดังตัวอย่างนี้

C ทวีตว่า "@A ถึงไหนแล้วจ๊ะ"

แน่นอน D กับ E ไม่เห็นทวีตนี้ แต่แล้วเขาก็เห็น A ทวีตว่า

A: "rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ // ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~"

ท่านคิดว่าจุดประสงค์ในทวีตของ A ข้างบนนี้คืออะไร

มองผ่าน ๆ ก็คงบอกได้ว่า อ๋อ A ก็จะตอบ C ไงว่าถึงบ้านแล้ว

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้า A จะตอบ C เนี่ย ทำไมไม่ใช้ reply ล่ะ

อันนี้ก็สุดปัญญาที่ผมจะตอบ เหลือเพียงทางเลือกเดียวคือ A เนี่ย ต้องการให้คนที่ฟอลโล่ว์ตนเองอยู่ เห็นว่า A คุยกับ C

ซึ่งปัญญาอันตื้นเขินของผมก็มองไม่ค่อยเห็นว่าเพื่ออะไร (วะ)

แต่ไม่เป็นไรครับ นั่นไม่ใช่ประเด็นของเรื่องนี้ ใครจะอยากให้ใครเห็นว่าคุยกับใครก็ตามสบาย แต่ประเด็นคือ ถ้าคุณเห็นทวีตนี้

A: "rt @C: rt @A: rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ // ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~ << โห ไวจัง หุหุ~ ... มีคนมาส่ง >//<"

ผมนับถือ A กับ C มากที่ยังคุยกันรู้เรื่องอยู่

อย่ากระนั้นเลย ผมมีวิธีง่าย ๆ ที่ดีกว่าในการคุยกับคนอื่นผ่านการ retweet มาเสนอ คือ ลองเปรียบเทียบ

A: "rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ // ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~" (49 ตัวอักษร)

กับ

A: "ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~ rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ" (46 ตัวอักษร)

ข้อดีที่เราเห็นทันทีคือ คนอื่นยังรู้ได้ว่า A ตอบ C (ไม่ว่าจะอยากรู้หรือไม่ก็ตาม) แถมยังประหยัดพื้นที่ไปถึง 3 ตัวอักษร!

หรือลองเปรียบเทียบ

A: "rt @C: rt @A: rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ // ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~ << โห ไวจัง หุหุ~ ... มีคนมาส่ง >//<" (86 ตัวอักษร)

กับ

A: "มีคนมาส่ง >//< rt @C: โห ไวจัง หุหุ~ rt @A: ถึงบ้านแล้วจ้ะ คริคริ~ rt @C: @A ถึงไหนแล้วจ๊ะ" (76 ตัวอักษร)

โอ้จ๊อด มันประหยัดไปถึง 10 ตัวอักษร เหลือพื้นที่ไว้ให้คุยอวดชาวบ้านอีกเยอะแยะ หรือจะให้คนอื่นเข้ามาร่วมวงสนทนาอวดชาวบ้านก็ยังไหว

แถมยังเห็นลำดับของการสนทนาอย่างเป็นระเบียบด้วย ไม่ต้องมานั่งนึกว่าจะคั่นด้วยอะไรดี จะ // หรือ << หรือ .. แถมเยอะ ๆ เข้าก็ไม่รู้ว่าใครคั่นด้วยอะไร

ยังไงก็ฝากไว้พิจารณานะครับ ไอเดียง่าย ๆ เอาความคิดเห็นที่ใส่เพิ่มเข้าไปมาไว้ข้างหน้าแทนที่จะต่อท้าย เพราะยังไงด้านหน้าก็มีคำว่า rt คั่นให้อยู่แล้ว

ไอเดียนี้เห็นฝรั่งทำกัน เวลาที่เขาเจอทวีตเจ๋งๆ แล้วต้องการเผยแพร่แบบแทรกความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่ไม่ใช่คุยกันนะ ครั้งเดียวจบ เช่น "อันนี้โคตรฮาเลยว่ะ rt @x: บลาบลาบลา")

ฝากไว้พิจารณาด้วยนะครับ ด้วยความหวังดี วิธีมันดีกว่าจริง ๆ ไม่รู้ว่าฝรั่งมันฉลาดหรือพวกเราหลงลืมกันไปเอง (แหม ก็เวลากด rt เนี่ย เคอร์เซ่อร์มันเลื่อนมาอยู่ท้ายข้อความพอดี พิมพ์ต่อได้เลย จะเสียเวลากด home ไปพิมพ์ด้านหน้าข้อความทำไมเนอะ หึหึ)

เสียงรบกวนจากงานเลี้ยงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อกี้นี่เอง กรุณาอ่านข้อมูลประกอบเหล่านี้ก่อน

  • หอสมุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลัก ๆ สองที่ คือ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เก็บหนังสือทุกประเภท และหอสมุดศูนย์รังสิต เก็บหนังสือสายวิทยาศาสตร์
  • วันนี้หอสมุดป๋วยฯ ปิดสามทุ่ม แต่หอสมุดศูนย์รังสิตปิดห้าทุ่ม เพราะยังมีบางคณะสอบอยู่
  • ผมเข้าใจว่าบุคคลภายนอกสามารถขอเช่าพื้นที่มหาวิทยาลัยจัดงานต่าง ๆ ได้
  • ผมเข้าใจว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องต้องห้าม

ผมนั่งอยู่ที่หอสมุดป๋วยตั้งแต่บ่ายแก่ ๆ ฟังเพลงไปเรื่อย ๆ พอห้องสมุดใกล้ปิด (สามทุ่ม) ก็ถอดหูฟังออก เตรียมเก็บข้าวของย้ายไปอีกหอสมุดหนึ่ง หูพลันได้ยินเสียง ตึก โป๊ะ ตึก โป๊ะ เดินออกมาข้างหน้าจึงได้รู้ว่ามีคอนเสิร์ตอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย (เข้าใจว่าเป็นเอกชนมาเช่าที่) ฟังดูเสียงน่าจะมาจากทางลานพญานาค ไม่ก็ศูนย์กีฬาทางน้ำ (สองที่นี้อยู่ติดกัน)

แล้วเสียงแม่งดังโคตร ๆ ที่อยู่ใกล้ลานพญานาคที่สุดคือหอพักทียูโดม (ห่างกันแค่ข้ามถนน) ผมเดินจากหอสมุดป๋วยมาจนใกล้หอพักใน เสียงแม่งก็ยังคงกึกก้อง เนื่องจากตึกต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นตัวช่วยสะท้อนเสียงอย่างดี

จากนั้นก็เดินเลี้ยวมาหอสมุดศูนย์รังสิต ระหว่างทางก็เจออีกงานเลี้ยงนึง เข้าใจว่าเป็นของเจ้าหน้าที่ตึกนั้น แม่ง เสียงดังพอกัน ตอนเดินผ่านนี่งานใกล้เลิกแล้ว เห็นมีขวดเบียร์วางอยู่บ้างด้วย เดินเข้ามาในห้องสมุดก็ยังมีเสียง ตึบ ตึบ ตึบ อยู่ อัดคลิปมาให้ดูด้วยว่ามันใกล้แค่ไหน (จริง ๆ ตอนอยู่ในหอสมุดก็ได้ยินเสียงแล้ว แต่ไมโครโฟนมือถือมันห่วยเกิน)

ดูแผนที่ประกอบได้ หอสมุดศูนย์รังสิตที่เบอร์ 3 หอสมุดป๋วยฯ ที่เบอร์ 4 งานเลี้ยงเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 2 คอนเสิร์ตที่เบอร์ 39 ไม่ก็ 41

ในคลิปนี่คือเดินจากในห้องสมุดออกมาให้ดูว่า แค่ออกมาข้างหน้าก็เจองานเลี้ยงพร้อมลำโพงขนาดยักษ์แล้ว

ตอนนั่งพิมพ์อยู่นี่ก็ได้ยินเสียง ไม่รู้จากเวทีไหน อนิจจา

ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

วันนี้ตื่นเช้าจะไปคุมแหล็บ เผื่อเวลาไว้ค่อนข้างดี ออกจากหอมาก็ไปรอรถเพื่อเดินทางไปคณะ

การเดินทางไปแถว ๆ คณะวิศวกรรมศาสตร์ SIIT หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์เนี่ย แม่งลำบากหน่อย คือมีรถฟรีผ่านแค่สายเดียวคือสายหนึ่ง รถสองแถว (สี่บาท) ก็ผ่านอยู่สายเดียว ถ้ามอเตอร์ไซค์ก็สิบห้าบาท

เดินมาถึงป้ายรถริมถนนก็ยืนรอรถ รออยู่นาน (กว่าปกติ) วันนี้มันเป็นอะไรมีแต่รถสายสองสายสาม คงเพราะเป็นวันสอบ สักพักสองแถวสายหนึ่งก็มา ไม่มีคนเลย ก็ขึ้นไปนั่งคนเดียว สองแถวก็จอดรอคนขึ้นเพิ่ม ก็ยังไม่มี ก็นั่งอยู่อีกนาน เห็นรถฟรีสายหนึ่งกำลังมาพอดี ไอ้เราก็คิดว่า ถ้าเราลงจากรถสองแถวนี่ไป เขาก็ต้องรอต่อ หรือต้องวนไปวนมา เลยนั่งต่อ แค่สี่บาทเอง

รถฟรีสายหนึ่งแม่งเริ่มใกล้เข้ามา จนพอมันจะผ่านไปนั่นล่ะ ลุงคนขับก็เคาะกระจกบอก เอ้า ไปขึ้นรถฟรีไป แล้วก็ไล่ลง หยิบป้ายมาเปลี่ยนแปลงร่างเป็นสายสอง ไอ้เราก็ลงมายืนมองรถฟรีแล่นหายลับไปกับตา รถสองแถวนั่นพอเปลี่ยนเป็นสายสอง คนก็ขึ้นกันเพียบ แล้วก็แล่นหายลับไปกับตา

สุดท้ายยืนรอต่อไป จนมีมอเตอร์ไซค์ผ่านมาจึงเดินทางไปถึงคณะได้ สายไปหนึ่งนาที

คราวหน้าถ้าผมนั่งอยู่บนสองแถว แล้วเห็นรถฟรีเส้นทางเดียวกันผ่านมา ก็คงจะลงจากสองแถวแล้วไปขึ้นรถฟรีได้อย่างสบายใจสินะ

ป.ล. หัวข้อมันเกี่ยวอะไรกับเนื้อหาวะครับ

การเดินทางตามหาหญิงสาวหูแหลมทำมือเป็นรูปตัววี

แค่หัวข้อก็ฟังดูบ้าพอแล้วใช่ไหม ผมเองก็รู้สึกว่ามันบ้าพอที่จะมาเขียนได้

ก่อนอื่นต้องเข้าไปดู ที่นี่

(ข้อมูลประกอบ: hawtness เป็นบล็อกรวมภาพฮา ๆ ของสาว ๆ อยู่เครือเดียวกับ failblog สุดโด่งดัง ซึ่งผมก็รู้จัก hawtness มาจาก @chayanin อีกทีอะนะ)

เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าคุณคลิกเข้าไปดูในลิ้งก์ข้างต้นแล้ว จะพบว่าสาวหูแหลม (เธอแต่งตัวเลียนแบบ สป็อค ตัวละครจากสตาร์ เทร็ก) นั่น น่ารักดี ความคิดเห็นในเว็บ hawtness นั่นก็ไปในทางเดียวกันคือ ใครวะเนี่ย งามจริง (บางคนก็อุตส่าห์สังเกตว่าโนบรา - แต่นั่นไม่เกี่ยวกัน) บางคนเห็นว่าเป็นรูปที่ถ่ายเอง มันต้องมาจากเฟซบุคหรือบล็อกของเธอแน่ ๆ เลย แล้วก็รำพึงว่า ต้องไปหารูปเธอมาอีกให้ได้

ไอ้ผมก็ไม่ได้คิดอะไร โพสท์นั้นใน hawtness มันมีที่มาอยู่ด้วย คือที่ ZanyPickle ตามลิ้งก์นี้ (เอ่อ ไม่ปลอดภัยสำหรับการเปิดในที่ทำงาน) คลิกไปก็พบว่า เดชะบุญ! มีคนมาทิ้งความเห็นไว้ว่า อ๋อ นั่นรูปเพื่อนฉันเอง ต้นฉบับอยู่ใน บล็อกนี้

จะรอช้าอยู่ใย ผมก็คลิกเข้าไปดู กดย้อนไปไม่กี่อัน ก็เจอต้นฉบับ เข้าไปแล้วก็เจอปรากฏการณ์ที่น่าจดจำ นั่นคือ ทั้ง ๆ ที่รูปที่บล็อกนั้นถูกโพสท์ตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน ความคิดเห็นส่วนมากกลับถูกเขียนขึ้นเมื่อสิบกว่าชั่วโมงก่อนหน้าผมเข้ามานี่เอง

อ่าน ๆ ดูก็ประมาณว่า สวยจังเธอ อยากรู้จัก อะไรประมาณนี้ ไปสะดุดสองสามอันบอกว่า เฮ้ สาวสวย เราตามลิ้งก์มาจาก reddit! ก็เลยลองคลิกเข้าไปดูกระทู้ภาพสาวคนนี้ ที่คนกำลังพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน มีคนไปขุดเอารูปมุมอื่น ๆ ของสาวคนนี้มาแปะให้พิสูจน์ตัวตนอีก เอาเข้าไป

สรุปก็คือ ผมว่ามันตลกดี คือถ้าดูจากเวลานะ รูปต้นฉบับถูกโพสท์เมื่อ 23 พฤศจิกายน สิบวันต่อมามันไปโผล่ที่ ZanyPickle แล้วอีกเจ็ดวันต่อมาก็มาอยู่บน Hawtness ทำให้ไปโผล่ที่ Reddit ด้วย ซึ่งคนจำนวนมากน่าจะมาเห็นที่ Hawtness กับ Reddit เนี่ยแหละ แล้วมันก็มองเห็นภาพคนกำลัง "เดินทาง" ตามร่องรอย ผ่านการเชื่อมโยงอันเบาบาง (ถ้าเพื่อนสาวหูแหลมนี่ไม่มาทิ้งความเห็นในบล็อก ZanyPickle ก็คงไม่มีใครได้เห็นภาพอื่นของเธอ) แล้วก็มาโผล่ที่เดียวกัน จากนี้ไปรูปนี้ก็คงจะถูกทำซ้ำและตกค้างอยู่ในอินเทอร์เน็ตไปตราบนานเท่านาน เอวัง

อ้อ สาวคนนั้นชื่อลอเรน ชื่อออนไลน์คือ lckk