คอขวดของอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจาก พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ถูกประกาศใช้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ติดตั้งระบบลงทะเบียนก่อนเข้าใช้อินเทอร์เน็ต นั่นคือทุกคนที่ใช้ Wi-Fi ของมหาวิทยาลัย เมื่อเริ่มต้นเข้าหน้าเว็บใด ๆ จะถูกนำไปพบกับหน้าลงทะเบียนก่อน หากกรอกชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่านที่ได้รับแจกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ (พร้อมกับถูกบันทึกการใช้งานทุกฝีคลิก)

ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ประเด็นก็คือ เท่าที่ผมเดาเอาอย่างไม่ค่อยมีความรู้เท่าไร โปรแกรมลงทะเบียนเข้าใช้อินเทอร์เน็ต (และฐานข้อมูล) เนี่ย มันน่าจะถูกติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียว (สังเกตจากหมายเลข IP ของหน้าเว็บที่ใช้ลงทะเบียน ใช้ที่ไหน ๆ ก็ถูกเด้งไป IP นั้น) แล้วปัญหาก็คือ วันหนึ่ง ๆ จะมีคำขอลงทะเบียนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ถูกส่งไปยังเครื่องนี้ ทำให้กว่าจะเริ่มเข้าหน้าเว็บลงทะเบียนนั้นได้ มันค่อนข้างช้า ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเครื่องนี้มันเสือกดับ หรือฐานข้อมูลมันหยุดทำงาน ก็น่าจะไม่มีใครใช้ Wi-Fi ได้เลย (เพราะเรียกหน้าลงทะเบียนไม่ขึ้น หรือกรอกรหัสผ่านไปแล้วผลออกมาเป็นรหัสผ่านผิด ทั้ง ๆ ที่บันทึกเอาไว้ในเบราเซ่อร์) เป็นคอขวดที่น่าอนาถพอสมควร

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าที่กล่าวข้างบนนี้ เกิดจากการสังเกตเท่านั้น แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้อยู่ที่หอพัก ผมกลับต้องส่งเอนทรี่นี้จากอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

สำเนียงท้องถิ่น

ผมพยายามฝึกสำเนียงอังกฤษตั้งแต่ดูหนังเรื่อง Love Actually (ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก) หาดูในยูทูบก็พอจะทราบบ้างว่าที่อังกฤษก็มีสำเนียงท้องถิ่นหลากหลายไม่ต่างจากไทย ฟังยากบ้างง่ายบ้าง เคยอ่านเจอว่าเมื่อสมัยที่วง Oasis (พูดสำเนียง Manchester) ไปออกรายการ Behind the Music ของช่อง VH-1 ที่อเมริกา ถึงกับต้องมีซับไตเติ้ล หนังเรื่อง Trainspotting ที่พูดสำเนียงสก็อตทั้งเรื่อง ตอนไปฉายที่อเมริกาก็ต้องมีซับไตเติ้ล

ผมกะว่าจะสอบ IELTS เลยลองหาสำเนียงอังกฤษมาฟัง ส่วนมากก็พวกข่าว ตอนหาฟัง มันก็จะมีวิดีโอประเภท นี่ ผมเป็นอเมริกันแล้วหัดสำเนียงอังกฤษได้นะ แล้วก็จะมีคนอังกฤษมาแสดงความคิดเห็นว่า สำเนียงที่คุณพูดน่ะ (หมายถึงสำเนียง RP - Received Pronunciation ประมาณว่าชนชั้นสูงพูดมั้ง) ในอังกฤษไม่ค่อยมีใครพูดกันอีกแล้ว หัดพูดไปคนอังกฤษฟังก็ไม่เชื่ออยู่ดีว่ามาจากอังกฤษ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าสำเนียง "หลวง" เนี่ยก็มีคนพูดน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วก็ไปเจอข่าว BBC รับผู้ประกาศข่าวที่มีสำเนียงท้องถิ่นเพิ่ม ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ พาลนึกไปถึงตอนเด็ก (ผมโตที่อุตรดิตถ์ แต่พูดภาษาถิ่นไม่ได้ว่ะ กลับบ้านทีโคตรอาย) เวลาไปเที่ยวไหนแถบ ๆ นั้น พ่อจะเดาได้ว่าคนที่พูดด้วยเนี่ย มาจากไหน เท่ชะมัดยาด เพราะแค่ในภาคเหนือก็มีหลากหลายสำเนียง มีคนเขียนบล็อกไว้แล้วด้วย หรือจะที่วิกิพีเดี่ย

ประเด็นก็คือ ถ้ามีผู้ประกาศข่าวไทยพูดติดสำเนียงท้องถิ่นของตัวเองบ้าง น่าจะสนุกหูดี คือผมก็เข้าใจว่าการพูดแบบที่เราเรียกกันว่าภาษากลางเนี่ย ใครฟังก็รู้เรื่อง (แน่ล่ะ บังคับให้เรียนกันนี่หว่า) แต่ผมก็มีเพื่อนจากกาญจนบุรี จากเพชรบุรี เขาก็พูดติดเหน่อกันบ้าง ผมก็ฟังรู้เรื่องดี จะใส่สำเนียงตอนอ่านข่าวหน่อยจะเป็นอะไรไป ไว้ข่าวสำคัญมาก ๆ ค่อยพูดเป็นสำเนียงกลางก็ได้

พาลคิดไปว่า เออ พวกเราโตขึ้นมา รู้ภาษาบาลีสันสกฤตก็เยอะแยะ คำราชาศัพท์นี่พูดกันลิ้นระรัว แต่ไม่ยักได้เรียนภาษาถิ่นของภาคต่าง ๆ แฮะ ตอนนี้บางคนอาจจะบอกว่าภาษาถิ่นไทยฟังไม่รู้เรื่อง ผมว่าถ้ามีให้ได้เลือกเรียนกันก็น่าจะรู้เรื่องนะ (หรือว่ามีหว่า)

สุดท้ายภาษามันก็เกี่ยวข้องกับอำนาจ เมื่อก่อนสำเนียงเหน่อสุพรรณก็เป็นสำเนียงหลวง เมื่อคนเมืองหลวงเป็นใหญ่ก็พยายามกดสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ไว้ ทำไมเราไม่อยากลองหัดพูด หัดฟังสำเนียงอื่น ๆ แล้วนำมันสู่กระแสหลักอย่างมีศักดิ์ศรีพอ ๆ กันบ้าง

เว็บสองจุดศูนย์รำพัน

อยากให้เธอ มาเม้นท์ ใน Hi5 อยากให้เธอ กด Like ใน Facebook แลกเพลงฟัง ใน iMeem คงเป็นสุข นึกสนุก กดไป Digg ให้เธอ

ฉันจะมี Multiply ไว้ใส่รูป จะส่งจูบ จุ๊บจุ๊บไป ใน Twitter Share เรื่องหวาน ผ่าน Goo- gle Reader เข้า Flickr ดูหน้าเธอ ให้ชื่นใจ

จะบันทึก ความลุ่มหลง ลง Wordpress สร้าง MySpace แล้ว add เธอ เป็น friend ไว้ เปิด Latitude คอยดู เมื่ออยู่ไกล เขียนถึงใน Livejournal ทุกเช้าเย็น

แค่นั่งนึก นั่งฝัน กลางวันไป เพราะตัวเรา นั้นไซร้ เธอไม่เห็น เว็บที่เรา เล่าไว้ เธอไม่เล่น ซ้ำหลบเร้น หลีกเรา เศร้าสุดทรวง

รับปริญญาน่ายินดี (ขนาดนั้น?)

แล้วฤดูแห่งการรับปริญญาบัตรก็เวียนมาถึงอีกครั้ง คงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคนหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา ครอบครัวของพวกเขาและเธอ หรือนักศึกษา-ประชาชนที่หวังจะสร้างรายได้จากคนกลุ่มก่อนหน้า

ผมไปสัมผัสบรรยากาศงานซ้อมรับปริญญาบัตรมาสองหน ปีที่แล้วกับสองปีที่แล้ว ที่ไปก็ไปช่วยเพื่อน ๆ ขายเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม ชาเขียว เพื่อหารายได้เข้าชุมนุม ดูเหมือนมันจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข (ถ้าไม่สนใจความทรมานจากอากาศร้อน) ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็แห่กันมาแสดงความยินดีกับหนุ่มสาวที่เรียนจบจนได้ ให้ของขวัญ ถ่ายรูป โห่ร้องอะไรกันก็ว่าไป ดูมันช่างน่ายินดีมาก ๆ น่ายินดีจนผมสงสัยว่า

มันน่ายินดีขนาดนั้นเลยหรือ (วะ)

นึกย้อนกลับไปตอนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมไม่เคยเห็นบรรยากาศของความยินดีขนาดนี้ (หรือมันมีแต่โรงเรียนผมไม่มีหว่า แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการรวมญาติมาถ่ายรูปในวันจบ ม. 6 นะ) ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเรียนจบ ม. 6 ได้เนี่ย มันโคตรจะน่าดีใจ ไม่ต้องตื่นไปโรงเรียน ไม่ต้องทำการบ้าน มีเวลาไปเที่ยว นอน เล่นเกม ดูหนัง

หรือถ้าจะบอกว่าเรียนมหาวิทยาลัยมันยากกว่า ผมว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ออกจะสบายกว่ามัธยมด้วยซ้ำ หรือจะบอกว่ามันคือก้าวแรกไปสู่สังคมผู้ใหญ่ หางานทำ ดูแลตัวเองอะไรทำนองนั้น ผมว่าคนเรามันไม่น่าจะเพิ่งมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง (หรือเห็นว่าต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง) กันตอนอายุยี่สิบสองนะ หรือถ้าจะเห็นว่าการศึกษาระดับปริญญาตรีมันเป็นใบเบิกทางไปสู่การมีอาชีพ มันก็จริง (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยชอบค่านิยมนี้นะ) แต่มันต้องถึงขนาดหมดเงินกันเป็นหมื่น ๆ ไปกับช่วงเวลาสั้น ๆ นี้น่ะหรือ

ผมคิดเล่น ๆ หาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า เพราะตัวปริญญาบัตรเอง (และพิธีต่าง ๆ มากมาย) นั่นแหละ ที่ทำให้เกิดงานฉลองรวมญาติโห่ร้องยินดีอะไรกันขนาดนี้ เหมือนว่าปริญญาบัตรมันเป็นสัญลักษณ์ของการเลื่อนขั้นในสังคม เพราะในสมัยก่อนคนที่เรียนจบปริญญาตรีน่าจะมีจำนวนจำกัด (จริง ๆ สมัยก่อนกว่านั้นก็คงมีคนจบมัธยมไม่มาก แต่ว่าตอนจบ ม. 6 คงไม่มีสมาชิกราชวงศ์มาพระราชทานเกียรติบัตรให้) แล้วก็แสดงความยินดีกันจนเป็นประเพณีขนาดนี้

บางคนก็บอกว่างานรับปริญญามันไม่ใช่งานของคนที่เรียนจบ แต่เป็นงานของครอบครัว ที่ได้เห็นลูกหลานเรียนจบ เรื่องนี้ผมว่าก็แปลก คือถ้าคนที่เรียนจบมันเก่งขนาดจบเร็วกว่าคนอื่น หรือได้เกียรตินิยม ผลการเรียนดี มีผลงานอะไร มันก็น่ายกย่องยินดีมากอยู่ แต่การเรียนจบตามเกณฑ์แบบที่คนอีกนับพันก็ทำได้มันก็ไม่ได้น่ายินดีขนาดนั้น น่าเสียดายเงินค่าเช่าชุด ค่าแต่งหน้า ค่าเสื้อผ้า ค่าทำผม ค่าดอกไม้ ค่าของขวัญ ค่าเดินทาง ฯลฯ

อีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันบ้ามากก็คือ การเข้าไปร้องเพลงบูมแสดงความยินดีให้กับบัณฑิต แล้วปิดท้ายด้วยกล่องใส่เงิน จริง ๆ มันก็ไม่แปลกเท่าไร เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงิน ที่บ้ามากกว่าคือบัณฑิตเองนั่นแหละ เสือกจ่าย คือถ้ารู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของคนที่มาร้องเพลงบูมให้จนอยากจะบริจาคเงินให้มันก็ดี แต่แบบที่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือถูกกดดันจนต้องควักเงินออกมาเนี่ย มันอะไรกันวะ เงินก็เงินตัวเอง คนมาร้องเพลงบูมให้ก็ไม่ได้ขู่จะเอาชีวิต จะว่าเกรงใจก็ไม่ใช่เพราะไม่ได้ขอให้ร้อง เออ แต่ไปวิจารณ์ก็จะกลายเป็นเสือกไป เงินของเขา

bangkokbusclub.com ชุมชนคนโดยสารรถโดยสาร

เพื่อนแนะนำมาให้ลองเข้าไปดู http://www.bangkokbusclub.com

ประทับใจโคตร ๆ ไม่นึกว่าจะมีชุมชนออนไลน์ของคนใช้รถเมล์แบบนี้อยู่ (แต่จริง ๆ พอเข้าไปก็นึกถึง http://www.ubmta.net ขึ้นมา ไม่รู้เกี่ยวข้องกันอย่างไร)

ที่รู้สึกว่ามันเจ๋งก็เพราะสมาชิกเขาอินกันมาก ถ่ายรูปรถเมล์มารีวิวกันสนุกสนาน (ใช่! รีวิวรถเมล์นี่ล่ะ ระบุคันได้ด้วยเลขประจำรถ) เช่นที่มู้ (ภาษาไทยยุคโพสท์-ประมูล แปลว่า กระทู้) นี้ http://www.bangkokbusclub.com/forums/index.php?topic=4139.msg57439;topicseen#msg57439

การเพิ่มคำสำหรับระบบสะกดคำอัตโนมัติในโทรศัพท์เคลื่อนที่

หลังจากได้ Nokia 3110c มา ผมก็ทวีตเป็นบ้าเป็นหลัง และนั่นหมายถึงการพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์อย่างเป็นบ้าเป็นหลังด้วยเช่นกัน

โชคดีที่เรามี T9 ระบบสะกดคำอัตโนมัติในโทรศัพท์เคลื่อนที่! (กรุณาอ่านด้วยสำเนียงโฆษณาขายของทางโทรศัพท์ในโทรทัศน์ - อืม ทำไมมันไม่ขายของทางโทรทัศน์ในโทรศํพท์บ้าง แต่นั่นไม่เกี่ยวกัน - ตอนดึก ๆ)

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก หลักการง่าย ๆ ของ T9 ก็คือ (กรุณาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูประกอบ) ถ้าเราจะพิมพ์คำอย่าง "แกลบ" จะเห็นว่าเราอักขระต่าง ๆ อยู่บนปุ่มเรียงตามลำดับ ดังนี้

"แ" บนเลข 0 - "ก" บนเลข 1 - "ล" บนเลข 8 - "บ" บนเลข 6

ถ้าไม่ใช้ T9 เราก็ต้องนั่งกดเลือกอักขระเหล่านั้น เช่น กด 6 สองครั้ง เพื่อเปลี่ยนจาก น เป็น บ

แต่ด้วยพลังของ T9 เราเพียงแค่กดตัวเลขที่มีอักขระเหล่านั้น คือ 0 1 8 6 มันก็จะแสดงคำที่ประกอบด้วยกลุ่มอักขระเหล่านั้น ในกรณีของโทรศัพท์ผม มันแสดง "แขวน" ขึ้นมาก่อน ก็กดปุ่มทิศทางลงเพื่อเลือกคำที่ต้องการ

มันสะดวกดีชะมัด แต่เดี๋ยวก่อน!

คือ T9 ของภาษาไทย มันมาพร้อมกับคำที่จำกัด บางคำมันก็ไม่รู้จัก เช่น คำว่า "เต่า" คือถ้าเรากด 0 5 * 0 แล้วเลื่อนหายังไงก็จะไม่เจอคำว่าเต่า ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้วิธีธรรมดากดเอา (ในขณะที่บางคำเสือกมี เช่น กด 5 * 6 6 8 * 8 จะได้คำว่า "ดับบลิว" หรือกด 9 8 9 1 9 8 9 6 จะได้ "หลอกหลอน")

ผมก็ก่นด่า T9 มาตลอดว่า ทำไมไม่มีคำอย่าง เต่า หรือ ตู้ (ใช่แล้ว คำว่า ตู้ ไม่มีมาตั้งแต่แรก) มาตั้งแต่แรกวะ ด่ามันใน twitter จนหลายคนน่าจะอิดหนาระอาใจ จนวันหนึ่งผมเกิดดวงตาเห็นธรรม! (โดยไม่ต้องให้นายกฯ มาอวยพร) นั่นคือ T9 มันเพิ่มคำเองได้

ด้วยความที่ใช้ T9 ในการทวีตซะส่วนมาก เลยไม่เคยดูว่าในหน้าจอพิมพ์ข้อความมันมีตัวเลือกอะไรเพิ่มเติมบ้าง (แบบว่ารีบ) เมื่อกี้ลองกด Options ปุ๊บโป๊ะเชะ เจอ Insert word ก็เพิ่มคำว่า เต่า กับ ตู้ ลงไปอย่างบันเทิงใจ

ต้องกราบขออภัย T9 มา ณ ที่นี้ด้วย (ว่าแต่คำว่า ตู้ มันไม่ได้ใช้กันทั่วไปเรอะ ถึงไม่ได้มีมาด้วย! คำว่า "บัญชร" ยังมีเลยโว้ย กด 6 * 3 3 8 หรือถ้าคุณกด 6 8 0 7 8 8 1 4 9 7 0 7 9 0 3 0 ต่อกันในคราวเดียวก็จะได้ "ประมวลกฎหมายอาญา" ซึ่งพบบ่อยกว่าคำว่า "ตู้" เรอะ!)

ลูกมือ

คุณคิดว่าเวลาสี่ปีสำหรับปริญญาตรีนี่มันเป็นอย่างไร หมายถึงว่า น้อยไป หรือมากไป ส่วนมากคงคิดว่าสี่ปีนี่นาน คงอยากรีบจบออกไปทำงานหรือเรียนต่อกันแย่แล้ว

สืบเนื่องจากผมเพิ่งผ่านการสอบกลางภาคไปหมาด ๆ และช่วงสอบก็โอดครวญเหมือนคนส่วนมากว่า อ่านไม่ทัน เวลาไม่พอ อะไรก็ว่ากันไป เมื่อพยายามไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ที่เหลือก็เป็นความผิดของผมเองที่ไม่ตั้งใจเรียนตั้งแต่ในคาบ เมื่อคิดต่อไปว่าแล้วในคาบผมทำอะไร ก็พบว่ามัวแต่หลับ หรือไม่ก็ทำการบ้าน แล้วเวลาตอนกลางคืนหายไปไหนหมด ส่วนมากก็เอาไปนั่งอ่านบล็อก อ่านข่าวสาร เล่นทวิตเต้อร์ แล้วก็ทำงาน

สรุปก็คือ ทำไมมีเวลาไม่พอ

ถ้าตอบตามความคิดคนทั่วไปก็คงเป็นเพราะว่าผมจัดสรรเวลาได้ห่วยเอง จึงต้องเจอปัญหาลูกโซ่ คือต้องใช้เวลาที่ควรจะทำอะไรสักอย่าง ในการทำอะไรอีกสักอย่างที่ผ่านมาแล้ว อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดสุดยอด คือต้องจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับการเรียนให้เสร็จในช่วงก่อนสอบ ยิ่งในบางมหาวิทยาลัยจะชอบส่งเสริมนักว่าให้ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน แค่เรียนนี่ก็จะแย่แล้ว!

แต่ด้วยความที่ไม่อยากโทษตัวเอง ผมขอหันไปโทษสังคมแทนก็แล้วกัน (ว่าเข้านั่น!)

Liar Game

ช่วงนี้ผมติดการ์ตูน

ผมได้ยินชื่อการ์ตูน (ซึ่งเรียกว่านิยายภาพน่าจะเหมาะกว่า) เรื่อง Liar Game จากอิ๊กกับแพรวมานานพอสมควร ด้วยความเบื่อหน่ายเหลือกำลัง ผมจึงกระโจนเข้าใส่บทที่หนึ่งของมันเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา

ตอนนี้จะตีสี่แล้ว ผมยังหยุดอ่านไม่ได้

คร่าว ๆ Liar Game เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับสาวน้อยแสนซื่อ (นางเอก) กับชายหนุ่มนักต้มตุ๋น (พระเอก) ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับ "เกม" ที่ถูกจัดโดยองค์กรลึกลับ และมีรางวัลเดิมพันเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งหลักการเล่นแต่ละเกมก็คือ ต้องโกหกให้เก่ง แต่ละด่านก็จะมีกติกาพิเศษต่างกันออกไป

อธิบายยาก ต้องอ่านเอง เกมแรกอยู่ในขั้นสนุกดี แต่เทียบกับเกมอื่น ๆ หลังจากนั้นไม่ได้เลย พยายามทนอ่านจนผ่านเกมแรกไปให้ได้ แล้วอาจจะสูญเวลาไปกว่าหกชั่วโมงอย่างง่ายดายเช่นผม

ก็ลองหา Liar Game ในกูเกิ้ลดู น่าจะมีให้อ่านอยู่ในผลการค้นหาหน้าแรก

กูเกิ้ลในอูกันด้า

กรุณาอ่านข้อเขียนสั้น ๆ นี้ก่อนอ่านข้างล่าง

เรื่องของเรื่องก็คือ ตอนสรุปจากต้นฉบับที่ Media Futurist ผมงงมากกับประโยคนี้

"In many developing countries, the first browsing experiences will be via mobile applications or mobile browsers."

คือไม่เข้าใจความหมายว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา (ตอนนั้นนึกถึงประเทศไทยอยู่) ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรก ๆ จะเป็นการใช้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอ๊ะ ยังไงวะ (ผมเพิ่งมีโทรศัพท์ที่เล่นเน็ตได้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี่เอง) จนได้อ่านบทความนี้ก็เริ่มเข้าใจ Designing useful mobile services for Africa

เรื่องของเรื่องก็คือ กูเกิ้ลได้เปิดตัวระบบสืบค้นข้อมูลทาง SMS ในอูกันด้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ต้องค้นผ่าน SMS ก็เพราะว่าในบางพื้นที่เขาไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่มีมือถือกัน ในบทความตะกี้ก็เล่าว่าเขาจะเริ่มสร้างระบบค้นหาข้อมูลอย่างไร ในที่ที่คนไม่เคยมีประสบการณ์กับการค้นหาข้อมูลออนไลน์มาก่อน กูเกิ้ลก็พาทีมงานไปกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ เรียกให้ชาวบ้านมาเป็นอาสาสมัครทดสอบระบบ ก็ให้ใช้โทรศัพท์ของตัวเองส่ง SMS คำถามอะไรก็ได้ไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ ปลายทางก็จะมีคนรวบรวมคำถามไว้ และส่งข้อความตอบกลับมาให้ แล้วทีมงานในสนามก็จะบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ใช้ ทั้งหมดนี้เลยออกมาเป็นระบบค้นข้อมูลทาง SMS ซึ่งมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ

หล่อจริง ๆ กูเกิ้ล!