language

ภาษาวิบัติ

พอดีมีเห็นคนทวีตเรื่องการใช้ภาษาวิบัติ บน Hi5 อ่านดูก็เป็นการบ่นปนก่นด่าคนที่ไม่ใช้การสะกดคำตามพจนานุกรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสงสัยมาระยะหนึ่งแล้วว่า จะเป็นห่วงอะไรกันนักหนาวะ

ผมเข้าใจว่าภาษามันจะถูกใช้งานก็เมื่อมีคนเข้าใจมัน ถ้าเราบังเอิญไปเห็นการใช้ภาษาแล้วพบว่าตนเองไม่สามารถเข้าใจหรือต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติในการทำความเข้าใจ มันก็คงสรุปได้ง่าย ๆ ว่าเราไม่ใช่คนที่เขาต้องการจะสื่อสารด้วย

แล้วก็มาโวยวายกัน ช่างเป็นความพยายามที่น่าทึ่ง

มักจะเจอความเห็นแบบ "มึงเขียนไว้อ่านเองคนเดียวใช่มั้ย" แล้วก็ด่าผสมว่า "ปัญญาอ่อน" บ้าง "น่าไปเกิดใหม่" บ้าง "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" บ้าง

อืม เข้าใจถูกแล้วครับ เขาเขียนไว้อ่านกับเพื่อนไง เข้าไปอ่านเอง อ่านไม่ออกเอง แล้วก็ด่า พาล

แม้น/แม้

บนสมมติฐานว่าคนทั่วไปเข้าใจว่า "แม้น" แปลว่า "แม้" หรือ although ซึ่งแสดงความขัดกันของสองข้อความนั้น ผมรู้สึกตะหงิด ๆ ใจมานานแล้วว่า มันจริงหรือ เพราะถ้าเราจะพอนึกออก คำว่า แม้น จะถูกเอ่ยคู่กับคำว่า "หาก" อยู่บ่อย ๆ ซึ่งคำว่า หาก นี้เป็นคำเชื่อมความเข้าด้วยกันแบบแสดงเงื่อนไข หรือ if ทำให้มันไม่น่าจะถูกพูดคู่กับ แม้น (ถ้ามันแปลว่า แม้) เพราะมันคนละเรื่องกัน

เพราะงั้นผมเสนอว่าตอนนี้ แม้น เท่าที่พบมีสองความหมาย คือ

  • แม้น แปลว่า แม้ หรือ although เชื่อมความแบบขัดกัน
  • แม้น แปลว่า หาก หรือ if เชื่อมความแบบเป็นเงื่อนไขกัน สอดคล้องกัน

คนละเรื่องเลยนะครับ มันแปลกดีไหมที่คำคำเดียวจะสามารถถูกใช้ในความหมายที่ต่างกันขนาดนี้

ตัวอย่างที่ผมคิดว่าชัดเจนก็คือ ลองดูกลอนสมัยก่อนเหล่านี้

แม้นจะเรียนวิชาทางค้าขาย อย่าปากร้ายพูดจาอัชฌาสัย

แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ

แม้นสมรจะไปนอนที่เรือนไหน อย่าหลับไหลลืมกายจนสายสาง

แม้นตัวตายหมายฝังไว้ลังกา แม่วัณฬาละฉันให้รัญจวน

ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน

ลองเอา แม้ ไปแทนที่คำว่า แม้น ดูนะครับ ว่าความหมายออกมาเป็นไง

ต่อมาลองเอา หาก ไปแทนที่คำว่า แม้น ดูครับ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คำว่า หาก น่าจะแทนที่คำว่า แม้น ได้ดีกว่าคำว่า แม้

ถ้า แม้น ไม่ได้แปลว่า แม้ แต่แปลว่า หาก จริง ๆ เนี่ย สมมติฐานของผมที่มีต่อความเพี้ยนของความหมายก็คือ แม้น ออกเสียงคล้ายกับ แม้ มาก ทำให้เวลาพูด ๆ กัน เกิดความสับสน

ปัญหาก็คือ คุ้น ๆ ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ แม้น ว่า แม้

แม้น: สัน. แม้ เช่น แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า. (สังข์ทอง).

(คือตอนนี้ของราชบัณฑิตยสถานจริง ๆ ล่มอยู่ เลยเอามาจากพวกที่คัดลอกไป เช่น longdo หรือ sanook)

ดูแค่ตัวอย่าง ลองใส่คำว่า หาก เข้าไปแทนนะ "หากมิไปช่วยจะม้วยมอด" ก็สมเหตุสมผลดี ถ้าไม่ไปช่วย ก็จะตาย

แต่ลองใส่คำว่า แม้ เข้าไปแทน "แม้มิไปช่วยจะม้วยมอด" ความหมายเป็นอย่างไร? ถึงไม่ไปช่วยก็ตายอยู่ดี? อย่างนี้แปลว่าความหมายข้างบนนี้ใช้ได้หรือไม่?

ก็แค่นั่งคิดเล่น ๆ ครับ

ภาษาไทยที่บกพร่อง ต้องแก้ไข

ที่คณะมีชั้นสำหรับแลกเปลี่ยนหนังสืออยู่ คือ ใครอยากได้เล่มไหนก็เอาเล่มของตัวเองมาแลกไป หรือใครอยากเอามาวางให้ไว้เฉย ๆ ก็ได้

วันนี้เดินผ่าน สะดุดตากับเล่มนี้

ภาษาไทยที่บกพร่อง ต้องแก้ไข เล่มที่ 1

ถูกใจมาก อยากได้มาก เปิดดูผ่าน ๆ ยิ่งชอบ เป็นการรวมข้อความที่ใช้ภาษาไทยบกพร่อง พร้อมแหล่งอ้างอิง เช่น ใครพูด หรือจากหนังสือพิมพ์อะไร แล้วก็บอกว่าควรแก้ไขอะไรด้วยเหตุผลอะไร

จริง ๆ แล้วจะเรียกข้อความเหล่านั้นว่าเป็นภาษาไทยที่บกพร่องมันก็แปลก ๆ นะ อย่างน้อยก็ต้องบอกว่าบกพร่องเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ได้บกพร่องในแง่การสื่อความหมายแน่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผมว่ามันน่าสนใจตรงที่คนที่ถือว่าตัวเองคอยบัญญัติหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในภาษาไทยอย่างราชบัณฑิตยสถานจะมีเหตุผลอย่างไรบ้างในการประเมินข้อความใด ๆ ว่าใช้ภาษาไทยบกพร่อง แล้วยังรู้สึกได้ว่าคนเขียนนี่โคตรขยันเลย (มีหลายข้อความในเล่มที่ลงที่มาว่ามาจากรายการวิทยุ)

อยากได้มาก แต่วันนี้ไม่มีหนังสือมาแลก เลยขอยัดเล่มนี้กลับเข้าไปในกองแบบ ลึก ลึก หน่อยก็แล้วกัน (ฮา)

สำเนียงท้องถิ่น

ผมพยายามฝึกสำเนียงอังกฤษตั้งแต่ดูหนังเรื่อง Love Actually (ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก) หาดูในยูทูบก็พอจะทราบบ้างว่าที่อังกฤษก็มีสำเนียงท้องถิ่นหลากหลายไม่ต่างจากไทย ฟังยากบ้างง่ายบ้าง เคยอ่านเจอว่าเมื่อสมัยที่วง Oasis (พูดสำเนียง Manchester) ไปออกรายการ Behind the Music ของช่อง VH-1 ที่อเมริกา ถึงกับต้องมีซับไตเติ้ล หนังเรื่อง Trainspotting ที่พูดสำเนียงสก็อตทั้งเรื่อง ตอนไปฉายที่อเมริกาก็ต้องมีซับไตเติ้ล

ผมกะว่าจะสอบ IELTS เลยลองหาสำเนียงอังกฤษมาฟัง ส่วนมากก็พวกข่าว ตอนหาฟัง มันก็จะมีวิดีโอประเภท นี่ ผมเป็นอเมริกันแล้วหัดสำเนียงอังกฤษได้นะ แล้วก็จะมีคนอังกฤษมาแสดงความคิดเห็นว่า สำเนียงที่คุณพูดน่ะ (หมายถึงสำเนียง RP - Received Pronunciation ประมาณว่าชนชั้นสูงพูดมั้ง) ในอังกฤษไม่ค่อยมีใครพูดกันอีกแล้ว หัดพูดไปคนอังกฤษฟังก็ไม่เชื่ออยู่ดีว่ามาจากอังกฤษ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าสำเนียง "หลวง" เนี่ยก็มีคนพูดน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วก็ไปเจอข่าว BBC รับผู้ประกาศข่าวที่มีสำเนียงท้องถิ่นเพิ่ม ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ พาลนึกไปถึงตอนเด็ก (ผมโตที่อุตรดิตถ์ แต่พูดภาษาถิ่นไม่ได้ว่ะ กลับบ้านทีโคตรอาย) เวลาไปเที่ยวไหนแถบ ๆ นั้น พ่อจะเดาได้ว่าคนที่พูดด้วยเนี่ย มาจากไหน เท่ชะมัดยาด เพราะแค่ในภาคเหนือก็มีหลากหลายสำเนียง มีคนเขียนบล็อกไว้แล้วด้วย หรือจะที่วิกิพีเดี่ย

ประเด็นก็คือ ถ้ามีผู้ประกาศข่าวไทยพูดติดสำเนียงท้องถิ่นของตัวเองบ้าง น่าจะสนุกหูดี คือผมก็เข้าใจว่าการพูดแบบที่เราเรียกกันว่าภาษากลางเนี่ย ใครฟังก็รู้เรื่อง (แน่ล่ะ บังคับให้เรียนกันนี่หว่า) แต่ผมก็มีเพื่อนจากกาญจนบุรี จากเพชรบุรี เขาก็พูดติดเหน่อกันบ้าง ผมก็ฟังรู้เรื่องดี จะใส่สำเนียงตอนอ่านข่าวหน่อยจะเป็นอะไรไป ไว้ข่าวสำคัญมาก ๆ ค่อยพูดเป็นสำเนียงกลางก็ได้

พาลคิดไปว่า เออ พวกเราโตขึ้นมา รู้ภาษาบาลีสันสกฤตก็เยอะแยะ คำราชาศัพท์นี่พูดกันลิ้นระรัว แต่ไม่ยักได้เรียนภาษาถิ่นของภาคต่าง ๆ แฮะ ตอนนี้บางคนอาจจะบอกว่าภาษาถิ่นไทยฟังไม่รู้เรื่อง ผมว่าถ้ามีให้ได้เลือกเรียนกันก็น่าจะรู้เรื่องนะ (หรือว่ามีหว่า)

สุดท้ายภาษามันก็เกี่ยวข้องกับอำนาจ เมื่อก่อนสำเนียงเหน่อสุพรรณก็เป็นสำเนียงหลวง เมื่อคนเมืองหลวงเป็นใหญ่ก็พยายามกดสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ไว้ ทำไมเราไม่อยากลองหัดพูด หัดฟังสำเนียงอื่น ๆ แล้วนำมันสู่กระแสหลักอย่างมีศักดิ์ศรีพอ ๆ กันบ้าง

Subscribe to language