Mobile Activism
ช่วงนี้ผมกำลังสนใจเป็นพิเศษในการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (หลังจากนี้ขอเรียกย่อ ๆ ว่ามือถือ) ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือการเมือง
เคยอ่านบทความ เขาบอกว่า คนในพื้นที่ที่พัฒนาแล้วจะรับรู้ข่าวสารผ่านสามจอ คือ คอมพิวเต้อร์ โทรทัศน์ และมือถือ พวกที่ห่างไกลออกมาหน่อยก็สองจอ (ตัดคอมพิวเต้อร์ออก) และที่ห่างไกลที่สุดก็เหลือจอเดียว คือมือถือ
ในประเทศกาน่า จำนวนคนใช้มือถือมีมากถึง 39 ใน 40 ของคนที่มีโทรศัพท์ทั้งหมด ในประเทศแทนซาเนีย ประชาชนร้อยละ 97 สามารถหามือถือใช้ได้ (อาจจะของเพื่อน ของญาติ) ความ "เข้าถึง" ของมือถือที่มากขนาดนี้ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะการเดินสายโทรศัพท์บ้านนั้นต้นทุนสูงกว่ามาก และความ "เข้าถึง" ของมือถือนี้เอง (แม้ว่าจะเป็นรุ่นห่วย ๆ ก็ตาม) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประโยชน์มากในการรณรงค์ หรือทำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ
หมัดเด็ดของมือถือก็คือ มันใช้แทนอินเทอร์เน็ตได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงแล้ว มือถือนี่โคตรสำคัญในการเป็นตัวกลางไปหาอินเทอร์เน็ต หรือไปหาโลกนั่นเอง
ผมเคยเขียนถึงเรื่องระบบสืบค้นข้อมูลผ่าน SMS ในประเทศอูกันด้า (หรือว่ามันอ่านว่า ยูกันด้า ฟะ) ไปแล้วหนหนึ่ง เพิ่งไปเจอ Question Box ที่เจ๋งพอกันอยู่ในประเทศอินเดีย หลักการก็ง่าย ๆ คือ เอามือถือใส่กล่องที่ติดแผงโซล่าร์เซลล์ ไปตั้งไว้ ที่กล่องก็จะมีปุ่มกดให้พูด เมื่อกดแล้วมันก็จะต่อสายไปหาเจ้าหน้าที่ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แล้วอยากจะถามอะไรก็ถาม ความเท่มันอยู่ที่ว่า กล่องนี้ติดตั้งง่ายมาก ขอแค่มีแสงอาทิตย์ก็ไม่ต้องทำอะไรอีก แค่นี้ก็สามารถกระจายโอกาสในการ "เข้าถึงข้อมูล" ไปได้มาก (และแน่นอน กลุ่มที่ทำ Question Box นี้ก็ให้บริการถามตอบทาง SMS ด้วย)
ยุคนี้แล้วมือถือที่รับส่ง SMS ได้ก็น่าจะมีราคาถูกพอที่ใคร ๆ ก็ซื้อได้แล้ว นี่เป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเรายังสามารถใช้ประโยชน์จาก SMS ได้เยอะ ข้อมูลมันก็จัดการง่าย เพราะเป็นแค่ข้อความ มีซอฟท์แวร์หลายตัวที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นระบบรวบรวม SMS คือนึกภาพว่าเราตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมา คนกลางมีแค่แล็พท็อพเครื่องนึงที่ติดตั้งซอฟท์แวร์นี้ และเชื่อมต่อกับมือถือเครื่องนึง คนที่เหลือที่มีมือถือก็สามารถส่ง SMS มาหาคนกลาง เพื่อรายงาน/เก็บข้อมูล/สำรวจอะไรบางอย่าง เช่น ติดตามการทุจริตในการเลือกตั้ง รายงานภัยพิบัติ อะไรพวกนี้ ข้อความทั้งหมดก็จะถูกเก็บลงแล็พท็อพเอาไว้วิเคราะห์ต่อไป หรือจะส่งต่อไปกระจายเก็บไว้หลาย ๆ ที่ หรือส่งต่อไปสู่อินเทอร์เน็ตก็ย่อมได้ ตัวอย่างของซอฟท์แวร์ประเภทนี้ก็คือ FrontlineSMS หรือ SlingshotSMS
ในประเทศปากีสถาน มือถือแทบทุกเครื่องสามารถรับคลื่นวิทยุได้ และคนก็นิยมฟังวิทยุ ทำให้การกระจายข่าวสารเกี่ยวกับเหตุรุนแรงเป็นไปได้โดยง่าย
นอกจากของ "โลวเทค" อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ของ "ไฮเทค" ใหม่ ๆ อย่างพวก บริการตามพื้นที่ (ติดตามจาก GPS) หรือ Augmented Reality (ลองดู Layar ได้) ก็ยิ่งช่วยเรื่องพวกนี้ได้อย่างพิสดารพันลึก
ถ้าสนใจเรื่องพรรค์นี้ ขอแนะนำให้อ่านเว็บเหล่านี้
หรือถ้าใครมีแหล่งอื่น ๆ ก็มาแบ่งกันอ่านนะครับ
- Read more about Mobile Activism
- Log in to post comments