ย้ายมาจากบล็อกเก่าเด้อ
ก่อนอื่นนะ สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Pecha Kucha กรุณาไปอ่านนี่ก่อน
พออ่านแล้วก็คงพบความน่าสนใจของมัน
เรื่องของเรื่องคือเมื่อวันเสาร์ (31 พ.ค.) ได้ไปชมงาน Pecha Kucha นี่ล่ะ ที่ TCDC ชั้น 6 ห้าง Emporium งานนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ผมเพิ่งเคยไปเป็นครั้งแรก ทั้งงานนี้และ TCDC
ไม่พูดพล่ามทำเพลง เรามาดูงานที่แต่ละคนนำมาเสนอกันเลย 1. มาโนช พุฒตาล - อยุธยา (บรรเลงดนตรี)
คงจะรู้จักกันดีกับคุณมาโนช ซึ่งถิ่นเกิดเขาคืออยุธยา คุณมาโนชมาเล่นกีต้าร์ร้องเพลงและเล่าเรื่อง โดยใจความพูดถึงว่าอยุธยาในวัยเด็กที่เขาเคยรู้จัก กับอยุธยาในปัจจุบันนั้น ต่างกันอย่างไร ฟังดูก็เหมือนจะไม่ใช่แค่อยุธยาแต่มองเป็นประเทศไทยได้เลย แยกออกเป็นหลายประเด็นมาก ตั้งแต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ริมแม่น้ำสมัยก่อน ที่อุดมไปด้วยกุ้งหอยปูปลา ความสนิทสนมของคนจากหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ความสงบเงียบของเมือง ความสวยงามของโบราณสถาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนไป หมดแล้วในปัจจุบัน บ้านก็หันเข้าถนน น้ำก็มีเจ้าของ (เขื่อน ฝาย) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเชื้อชาติศาสนา อันธพาลที่มากับถนนและจักรยานยนต์ วัดต่าง ๆ มีการโฆษณาเครื่องรางของขลัง
ความประทับใจคือการที่นำเรื่องเหล่านี้มาเล่า สลับกับการร้องเพลงและเล่นกีต้าร์โปร่ง (ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน) มันทำให้การเล่าเรื่องมีพลังและน่าสนใจมาก เรียกได้ว่าทุกคนเงียบกริบ แน่นอนว่าเพลงก็เพราะมาก คือไม่ได้เพราะแบบเพลงตลาด ๆ แต่มันมีทำนองที่เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เหงา ๆ เศร้า ไปจนสับสน จนเกี้ยวกราด แล้วก็กลับมาสับสน แล้วก็ผ่อนอารมณ์ลงตอนท้าย
สุดยอดจริง ๆ การนำเสนอของคุณมาโนชเป็นอันดับ 1 (สำหรับผม) ในคืนนี้
2. วธู หงศ์ลดารมภ์ - A dark comic book portraying the life of a homosexual living in the 1950s. : Title ‘The End of a perfect life’
คุณวธูเป็นผู้หญิงสาวหมวย (น่ารักอะ) ทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ของบริษัทอะไรไม่ทราบ ไม่ได้จดมา งานที่นำเสนอเป็นหนังสือการ์ตูน ไม่สิ ต้องเรียกว่านิยายภาพ ที่สะท้อนชีวิตของชายรักร่วมเพศในช่วงปี 50's ที่สังคมยังไม่ยอมรับ จุดเด่นของงานนอกจากเนื้อหา และความสวยงามของภาพแล้ว คือหนังสือนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเปิดอ่านจากด้านหน้า อีกส่วนเปิดอ่านจากด้านหลัง แล้วมาจบที่เดียวกันกลางเล่ม เท่มาก ๆ
3. ธนากร กมลเปรมปิยะกุล - 2012 : the end of the world
คุณธนากรเป็นคุณพ่อลูกอ่อน หิ้วลูกสาวขึ้นมาพูดบนเวทีด้วย ดูท่าทางสบาย ๆ แต่หัวข้อนี่ไม่ใช่เล่นเลย เขาอ้างอิงจากงานวิจัยที่สรุปประวัติศาสตร์ว่ามนุษยชาติกำลังพัฒนาไปด้วยความเร่ง กล่าวคือเราใช้เวลา 100,000 ปีจากใช้เครื่องมือหินมาใช้ iphone ซึ่ง iphone ก็สามารถเก็บข้อมูลของวิทยาการเมื่อ 100,000 ปีก่อนได้ และการเปลี่ยนยุคแต่ละยุคนั้นใช้เวลาน้อยลงเรื่อย ๆ (จำตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ - ตัวอย่างที่สำคัญคืออินเตอร์เนตที่ย่อโลกลงเหลือนิดเดียวเพิ่งถูกประดิษฐ์มาได้ 10 กว่าปี) คุณธนากรอ้างอิงคำพูดจากนักวิทยาศาสตร์ (จำชื่อไม่ได้อีกแล้ว) ว่าถ้าเรายังพัฒนาไปด้วยความเร่งอย่างนี้ อีกไม่นานก็จะถึงช่วงเวลาที่เรียกว่า "timewave zero" ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการพัฒนา (เขาใช้คำว่า singularity) แล้วจากนั้นก็จะขยายออกเป็นยุคใหม่ที่ยากจะจินตนาการ ซึ่งไอ้จุด timewave zero นี่มันถูกคำนวณออกมาเป็นปี ค.ศ. 2012 ซึ่งดันไปตรงกับปฏิทินของชาวมายัน (ชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้) ที่ว่าวันสิ้นโลกอยู่ในปี 2012 พอดี กลายเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์
ทีนี้ปัญหาคือหลังจากปี 2012 ล่ะ มันจะเป็นยุคของอะไร (จบยุคข้อมูลข่าวสาร) คุณธนากรบอกว่ามันน่าจะเป็นยุคของ จิตวิญญาณ (spiritual age) เนื่องจากเขาสังเกตว่ามนุษย์เริ่มการพัฒนาด้านจิตวิญญาณมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เป็นคำสอนต่าง ๆ ถูกเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง (ในยุคของข้อมูลข่าวสาร) คุณธนากรบอกอีกว่า ตั้งแต่ปีนี้ (2008) มนุษยชาติจะต้องเข้าใจ ความจริงแท้ (the ultimate truth) นั่นคือคุณค่าและจุดหมายที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าศาสนาใดคำสอนใดก็กล่าวไว้เหมือนกัน เพื่อเตรียมพร้อมเปลี่ยนสู่ยุคแห่งจิตวิญญาณหลังปี 2012
ฟังแล้วก็น่าคิดว่าจะเป็นไปอย่างที่คุณธนากรเดาไว้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันผมว่าก็มีสัญญาณจากโลกมากนะที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองครั้งสำคัญ (ผมกำลังนึกถึง "อนุภาคพระเจ้า" - Higgs boson) หรือความสูญเสียจากภัยพิบัติ ก็ต้องรอดูและเตรียมตัวต้อนรับมัน ไม่ว่ามันจะดีหรือร้ายก็ตาม (อีก 4 ปีเองนะ)
4. บุญชัย อภินทนาพงศ์ -วิธีที่ผมใช้ลองหาแนวคิด…เมื่อหัวสมองตัน…หาคำมา…แล้วลองคิดตามคำ… อย่างรวดเร็ว…ครั้งนี้เลยลองเอาหนังสือเก่าที่…ให้แรงบันดาลใจในช่วงชีวิตมาลองเขียนภาพประกอบดู เลือกมาสิบเล่ม ประหลาดดีเหมือนกัน
ชื่อหัวข้อยาว ๆ นี้มากับความคิดเจ๋ง ๆ ของคุณบุญชัย คือการเลือกหนังสือที่เขาเคยอ่านในวัยหนุ่ม (ตอนนี้ไม่หนุ่มแล้ว?) มา 10 เล่ม แต่ละเล่มก็เปิดไปที่หน้า 20 แล้วเอาคำที่ 20 มาเป็นหัวข้อในการเขียนภาพ
ใช่แล้วครับ ก็จะได้ภาพมา 10 ภาพ มีคำมากมายเช่นร้านซักรีด โคลงไปมา ความสับสน (ภาพความสับสนนี่คุณบุญชัยวาดเป็นผู้หญิงที่มาดวงตาทั่วตัว) หรือแม้แต่คำว่า กากา (?)
อยากเอารูปมาลงให้ดูเพราะแต่ละรูปมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดี แต่ขอหาก่อน
5. สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ - หนังสั้นเกี่ยวกับ Paul Smith
คุณสุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ คนนี้เป็นคนดังครับ ในฐานะครีเอทีฟอันดับ 1 ของเอเชีย (จากนิตยสาร Campaign Brief ของออสเตรเลีย ปี 2542) ถ้าเห็นหน้าคงร้องอ๋อ เขาเป็นคนทำโฆษณามากมาย เช่น "ไอ้ฤทธิ์ กินแบล็ค" "บอยไม่ดื่ม" "สิงห์คะนองนา" หรือโฆษณาสะดือของกิฟฟารีน
คุณสุทธิศักดิ์มาพร้อมกับหนังสั้นที่เขาทำเพื่องานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ Sir Paul Smith นักออกแบบชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งผลงานของท่านเซ่อร์ที่มีชื่อเสียงอย่างหนึ่งคือแถบหลาย ๆ สี (ลองหาใน google ว่า paul smith stripes ดูละกันนะ)
Sir Paul Smith มีคำกล่าวเด็ดอยู่ประโยคหนึ่ง คือ "You can find inspiration in everything" ซึ่งเป็นหัวข้อของหนังสั้นเรื่องนี้ เรื่องย่อก็เป็นชีวิตของหนุ่มฝรั่ง (หรือลูกครึ่งหว่า) คนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ (คงขาดแรงบันดาลใจ) จนวันหนึ่งเดินเล่นผ่านไปแถวศาลเจ้า เจออาม่า (หรืออาอึ้มหว่า) กำลังเสี่ยงเซียมซี ฝรั่งเลยไปลองบ้าง ปรากฏว่าเหมือนกับที่แทบทุกคนเคยทำตอนเป็นเด็ก คือป้ายเซียมซีมันร่วงพื้นหมด แต่พอก้มไปมองเท่านั้นล่ะ ป้ายเซียมซีที่กองอยู่มันคือแถบของ Sir Paul Smith พอดีเลย
6. ปริญญา ภัทรจำนง - Geometry kingdom project
สำหรับของคุณปริญญาเป็นลักษณะการออกแบบ แต่เท่มากคือออกแบบรูปร่างคล้ายสัตว์ด้วยรูป/ทรงเราขาคณิต โดยอุตส่าห์แยกสัตว์เป็นไฟลั่มต่าง ๆ แล้วแทนโครงสร้างแบบต่าง ๆ ด้วยรหัส เช่น 1 หัวก็ H1
ไม่รู้จะอธิบายยังไง คงต้องดูรูปเอง
7. วรัญญา ตุงคะสมิต - Collage canto
ดูที่นี่เลยครับ http://collagecantoandsoon.blogspot.com/
8. P7 - แนวคิดรูปแบบงานศิลปะแบบ Freestyle Art ของ p7
คุณ P7 เป็นนักเขียนรูป เดิมเขียนแนวเสมือนจริง (realistic) แต่หันมาเขียนแบบตามใจตัวเอง งานแบบตามใจตัวเองของเขาจะไม่ค่อยมีเหตุผล เขาบอกว่าบางทีวาดรูปอยู่ก็เขียนชื่อเพลงที่ฟังอยู่ลงไปเสียอย่างนั้น
หลายรูปของเขาสวยดีอยู่แล้ว แต่เขาต้องการทำลายความเนี้ยบของมัน จึงเติมไอ้โน่นบ้างไอ้นี่บ้าง (มีรูปหนึ่งเป็นมิกกี้เม้าส์ที่ เอ่อ "แข็ง" เต็มที่)
การนำเสนอของเขาก็มีการนำรูปต่าง ๆ ที่เคยวาด ทั้งที่เป็นผลงานแสดงและวาดเล่น ๆ ที่เจ๋งก็คือมีแอบไปวาดบนเศษกระเบื้องริมถนนบ้าง บนผนังของอาคารที่ถูกทุบทิ้งบ้าง (เขาบอกว่าเห็นผนังนั้นปุ๊บก็ข้ามถนนไปซื้อสีสเปรย์ หรือแม้แต่หลังตู้โทรศัพท์มาพ่นทันที 15 นาทีเสร็จ)
9. สันติ ลอรัชวี - Deinstallation in Tokyo
เขาเล่าเรื่องประสบการณ์ที่เคยไปจัดนิทรรศการศิลปะที่ญี่ปุ่น แล้วเกิดความคิดบางอย่างหลังจากเก็บผลงานต่าง ๆ ออกจากสถานที่ไปแล้ว
เขารู้สึกว่าที่โล่งที่เกิดขึ้นจากการนำงานศิลปะออกไปนั้น มันคือพื้นที่ใหม่ในสถานที่เดิม เป็นการเปิดกว้างทางความคิดที่เกิดจากการถอยออกไปของศิลปะที่เคยรู้จัก เขาแสดงมันออกมาด้วยการนำของธรรมดาทั่วไปบริเวณนั้นมาตั้งเป็นงานแบบ installation แล้วถ่ายภาพเก็บไว้
เขาบอกว่าภาพถ่ายเหล่านั้นอาจจะใช่หรือไม่ใช่งานศิลปะ แต่เขาต้องการให้มันแสดงออกถึงการสร้างผลงานใหม่ ๆ จากการเอาความเคยชินออกไป เรียกว่าแทนที่จะ go outside ก็ go inside ไปเลย
10. จักรกฤษณ์ อนันตกุล - Spookery Atomic Computer
คุณจักรกฤษณ์ตั้งคำถามว่า ทำ music video เนี่ย ไม่มีเนื้อเรื่อง ไม่มีเงิน จะทำได้หรือไม่ เขาเลยลองเอาของใกล้ตัวมาทำ คือ ลูกตา (ที่เอาไว้มองเห็น ไม่ใช่แม่) ของเขาเอง โดยใช้ web cam ถ่ายกิริยาต่าง ๆ ที่คนจะทำกับตาได้ แล้วนำมาตัดต่อให้เข้ากับจังหวะเพลง
ตอนท้ายเขายังเสนอว่า การตัดทอนรายละเอียดของสารมากเท่าไร มันยิ่งเข้าใจง่ายเท่านั้น เช่นหากใน music video ใช้แต่สีแดงหลาย ๆ แบบ หรือสัญลักษณ์ง่าย ๆ หรือตัวอักษร (เขาเรียกว่า "ความรู้เดิม") ให้แต่ละแบบแทนเสียงเครื่องต่าง ๆ พอเปิดให้คนดูไปเรื่อย ๆ จนเกิดการเรียนรู้ ถ้าหยุดเพลง แต่ยังเปิด video อยู่ น่าจะเกิดเสียงขึ้นเองในหัว
ยาวจริงแฮะ อีก 10 คนมาต่อคราวหน้า
- Log in to post comments