ลูกเล่นบางอย่างที่ช่วยเพิ่มโอกาสที่บทความวิจัยสาขาคอมพิวเตอร์และการควบคุมจะได้ตีพิมพ์

ช่วงนี้งานยุ่งมาก ขอเอาของเก่าเก็บออกมาแปะไว้ก่อน เป็นการบรรยายเมื่อครั้งไปร่วมประชุมวิชาการ "นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส" ที่ชะอำ เมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หัวข้อจริง ๆ คือ "Some Useful Tricks to Enhance Journal Pper Acceptance Probability in Computer Science, Computer Engineering, Info Engineering, and Control System Engineering Areas" บรรยายโดย ศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อความที่สรุปมามีดังนี้ บทความที่ตีพิมพ์ได้

  • การสำรวจ (survey) หรือการวิจารณ์ แต่ไม่ใช่แบบสำรวจ (poll)
  • ความจริงในธรรมชาติที่ถูกค้นพบใหม่
  • วิธีการใหม่ในการแก้ไขปัญหาหนึ่ง ๆ
  • การโต้แย้งข้อผิดพลาด (rebuttal)

ขั้นตอนก่อนเขียนบทความ

  1. ทดลองหาความจริง หรือหาวิธีการใหม่
  2. หาปัญหาที่ชัดเจน หรือหาจุดอ่อนของงานของคนอื่น
  3. สำรวจว่างานของเราเป็นงานที่ใหม่จริง ๆ
  4. หาผู้ร่วมงาน และวิธีแก้ไขปัญหา
  5. จัดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เหมาะสม

บทความที่เสนอวิธีแก้ปัญหานั้นอาจจะมีหลายรูปแบบ ดังนี้

ปัญหา ใหม่ ใหม่ เก่า เก่า
วิธีแก้ไข ใหม่ เก่า ใหม่ (ได้ผลดีขึ้น) ใหม่ (ผลดีเท่าเดิม)

ที่เป็นสีแดงคือแบบที่จะถูกปฏิเสธ

การเขียนบทความ

  • มีข้อสรุปที่ชัดเจน
  • ได้ผลดีกว่าเดิมในมาตรฐาน (benchmark) เดียวกัน
  • เพิ่มตัวอย่างเพื่อทำให้ผลงานของเราดูดีกว่าคนอื่น
  • แต่ต้องไม่เขียนโจมตีงานอื่น

โครงสร้างของบทความ

  • ชื่อบทความ : ครอบคลุมทั้งปัญหา วิธีการแก้ไข และเงื่อนไข แต่ไม่ยาวเกิน
  • ลำดับชื่องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • บทคัดย่อ : ประกอบด้วยปัญหา แนวคิดการแก้ไข และผลลัพธ์ (ดีขึ้นจากเดิมร้อยละ X)
  • บทนำ : สาเหตุของปัญหา งานที่เกี่ยวข้อง จุดอ่อนของงานอื่น ๆ ที่ผ่านมา สรุปโครงสร้าง
  • ปัญหา : นิยามปัญหาที่จะแก้ไข ขอบเขตของปัญหา
  • วิธีแก้ไขปัญหา : แนวคิด การแก้ไข ทฤษฎี
  • การทดลอง : ขั้นตอน ผลการทดลอง ผลเมื่อเทียบด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกับผู้อื่น
  • กิติกรรมประกาศ : ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เจ้าของทุน

การตีพิมพ์ในรายงานการประชุม (proceedings) และวารสารวิจัย (journals)

  • รายงานการประชุมวิชาการ
    • งานประชุมวิชาการ (conference) นั้นมีหลายคุณภาพ ต้องระมัดระวังก่อนส่ง
    • โดยการประชุมที่ดีจะต้อง
      • มีผู้วิจารณ์ (reviewers)
      • ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
      • ผู้จัดมีความน่าเชื่อถือ
      • มีอัตราการไม่รับบทความ (rejection rate) ที่สูงเกินครึ่งหนึ่ง
      • มีคำวิจารณ์ (comment) มาจากผู้วิจารณ์ ไม่ว่างานของเราจะได้รับตีพิมพ์หรือไม่
    • รายงานการประชุมส่วนมากใช้ชื่อว่า Proceedings... แต่บางที่อาจใช้ชื่อว่า Lecture Notes in...
  • วารสารวิจัย
    • วารสารมีหลายรูปแบบ เช่น Journal... Transaction... Survey... Bulletin...
    • วารสารที่ดี
      • มีความน่าเชื่อถือของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ
      • เป็นที่ยอมรับของฐานข้อมูล
      • มีปัจจัยผลกระทบ (Impact Factor) สูงกว่า 0
      • ไม่เก็บเงิน
  • ผลงานที่ลงรายงานการประชุม จะใหม่กว่าผลงานในวารสาร 1 ปี
  • ไม่ควรส่งงานไปตีพิมพ์หลายที่โดยไม่จำเป็น (ไม่ควรส่งดะ)
  • วารสารไทยที่สามารถใช้จบปริญญาเอกได้ เช่น
    • Science Asia
    • ECTI Transactions on Electrical Engineering and Communications
    • Songklanakarin Journal of Science and Technology