ตำรวจอาจจะเก็บเสื้อเปื้อนเลือดจากที่เกิดเหตุ ใส่ซองเก็บหลักฐาน แล้วเก็บไว้ที่กองพิสูจน์หลักฐานจนกว่าจะถึงขั้นตอนการตัดสินคดีได้ ภาระความน่าเชื่อถือของหลักฐานก็คงจะไปตกอยู่ที่การเข้าถึงห้องเก็บหลักฐาน
ตำรวจอาจจะนำฮาร์ดดิสก์ไดรว์มาทำสำเนาต่อหน้าผู้ต้องหา โดยก่อนทำสำเนาก็ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว จากนั้นก็สร้าง "ลายเซ็น" หรือ hash ของข้อมูลเก็บไว้ทั้งสองฝ่าย ภาระความน่าเชื่อถือของหลักฐานก็อยู่ที่กระบวนการทำสำเนาข้อมูลนี่เอง
แต่สำหรับข้อมูลบนหน้าเว็บเล่า ในยุคที่หลักฐานของความผิดอาจเป็นแค่ข้อความในเฟซบุค หรือความเห็นท้ายกระทู้ในเว็บบอร์ด เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าหลักฐานที่คนอื่นอ้างไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายเรา
จับภาพหน้าจอ? ข้อมูลบนหน้าเว็บที่เราเห็น ๆ กันนั้นล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกดาวน์โหลดมาไว้ในเครื่องก่อนที่จะแสดงผลทั้งสิ้น เมื่อมันถูกดาวน์โหลดมาแล้วย่อมแปลว่าเจ้าของเครื่องจะทำอะไรก็ได้ ยิ่งเว็บเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ ๆ มีเครื่องมือแก้ไขหน้าเว็บมาให้พร้อมก็ยิ่งง่าย ลองดูภาพหลักฐานทวีตจากอนาคตของผมนี่สิ ใช้เวลาทำนาทีเดียว
เท่าที่ผมเข้าใจ เราอาจจะพูดได้ว่าเราไม่สามารถแน่ใจเรื่องเวลาบนอินเทอร์เน็ตได้ ถ้ากระทู้ในเว็บบอร์ดมีเพียงวันที่กำกับ เราก็ไม่มีทางทราบเวลาที่เนื้อหานั้นถูกสร้างขึ้น มิพักจะต้องกล่าวถึงว่าวันที่นั้นก็ยังต้องถูกพิสูจน์ต่อไปว่าถูกต้องจริงหรือไม่
ก็ยังคิดไม่ตก ลองอ่านกรณีศึกษาในต่างประเทศไปบ้างนิดหน่อย มีแต่คนพูดถึง Wayback Machine หรือบริการเรียกดูหน้าเว็บตามช่วงเวลาในอดีตของโครงการหอจดหมายเหตุอินเทอร์เน็ต ที่น่าเชื่อถือพอสำหรับคดีทั่วไปเพราะเป็นบุคคลที่สามที่ยากที่จะมีส่วนได้ส่วนเสีย (ทำให้ Dell ชนะคดีชื่อโดเมน dellcomputerssuck.com มาแล้ว) แต่ก็นั่นล่ะ ข้อมูลมันไม่ค่อยครบถ้วน และคนทำเว็บสามารถป้องกันไม่ให้ Wayback Machine มาเก็บข้อมูลได้ไม่ยาก
ตอนนี้กำลังอ่านพวกนี้อยู่ แต่มึนภาษากฎหมายแฮะ
- Log in to post comments