The Class

หนึ่งในสัจธรรมของโลกนี้ก็คือ หนังดี ๆ มักเข้าฉายช่วงใกล้สอบ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร วันศุกร์และวันเสาร์ที่ผ่านมาเลยดูหนังไป 3 เรื่อง ได้แก่ The Class, The Baader Meinhof Complex และ The Reader (ทำไมมีแต่เดอะเดอะ)

เริ่มที่วันศุกร์ เห็นข่าวเกี่ยวกับหนังเรื่อง The Class (Entre les murs) และอยากดูมานานแล้ว เลยถ่อไปดูถึง House RCA พ่วงด้วย The Baader Meinhof Complex อีกเรื่อง เอาให้คุ้ม เพราะการเดินทางไป House นั้น ถ้าไม่นานก็จะแพง (ที่ไปมานี่ค่าเดินทางไปกลับเท่ากับค่าตั๋ว 2 เรื่อง)

ข้างล่างนี่เปิดเผยเนื้อเรื่องของหนังแน่ ๆ แต่คิดว่าไม่ได้ส่งผลต่ออรรถรสในการชมเท่าไรนัก ไม่เหมือนกับสปอยเล่อร์หนังเรื่องอื่น ๆ

The Class The Class ซึ่งเป็นหนังตัวแทนจากฝรั่งเศสเพื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าร์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ เป็นเรื่องราวของโรงเรียนรัฐบาลชานกรุงปารีส ที่ครูหนุ่มคนหนึ่งต้องคอยจัดการทั้งการให้การศึกษาแก่นักเรียน ความขัดแย้งระหว่างนักเรียน และความขัดแย้งระหว่างนักเรียนกับเขาเอง

ห้องเรียนในหนังนั้นก็เป็นห้องเรียนธรรมดา ๆ มีทั้งเด็กเก่ง เด็กไม่เก่ง เด็กเก็บตัว เด็กเกเร มีตัวละครหลายตัวที่สามารถเป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ เราสมัย ม. ต้นได้สบาย ๆ เช่น คนที่เฮฮา ชอบเย้าแหย่เพื่อน คนที่เรียนเก่งที่สุดและไม่ค่อยพูด หรือคนที่ย้ายมาจากโรงเรียนอื่นเพราะความประพฤติไม่เหมาะสม สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากห้องเรียนในประเทศไทยก็คือความหลากหลายทางเชื้อชาติ คือมีทั้งจากยุโรป คือคนฝรั่งเศสเอง จากเอเชีย (ทั้งจีนและอาหรับ) จากอัฟริกา จากแคริบเบี้ยน และพวกฮิสแปนิก ความหลากหลายนี้เองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ครูหนุ่มคนนี้ชื่อฟรองซัวส์ มาแร็ง สอนภาษาฝรั่งเศส เขาต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายอย่างในการพยายามให้การศึกษากับนักเรียน นอกจากปัญหาทั่วไป เช่นความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนบางคนแล้ว การพยายามจับผิดครูก็สร้างความลำบากใจไม่น้อย ดูเหมือนว่าที่ฝรั่งเศส นักเรียนจะรู้สึกไม่ห่างเหินจากครูเท่าไร คือแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาผ่านการโต้เถียง หรือวิจารณ์ ซึ่งมาแร็งก็รับได้และแลกเปลี่ยนกับนักเรียนอย่างมีเหตุผล ในขณะเดียวกัน มาแร็งก็ยังต้องการความเคารพจากนักเรียนอยู่ (ซึ่งผมมองว่าครูต้องการสอนมารยาทในสังคมระหว่างสุภาพชนด้วยกัน ไม่ใช่ความเคารพแบบครู-นักเรียน) เช่น ตักเตือนเมื่อนักเรียนโยนสมุดให้ หรือไม่ยอมให้นักเรียนพูดว่า "ผมไม่ได้พูดกับครู" (เมื่อมาแร็งเข้าไปห้ามนักเรียนที่กำลังด่ากัน - ซึ่งไม่แน่ใจในอารมณ์ของภาษาเหมือนกันว่าประโยคเมื่อกี้นั้นพอแปลเป็นไทยแล้วจะเป็น ผม/ครู, ผม/คุณ, หรือว่า กู/มึง)

ฉากในเรื่องเป็นห้องเรียนของเด็กวัย 14 - 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสับสน คึกคะนอง รวมถึงความสนใจในเพศตรงข้าม (แต่อย่างหลังนี่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในหนัง) สถานการณ์จึงค่อนข้างมันส์ เด็กหลาย ๆ คนพยายามแสดง/ค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งบางทีก็นำความลำบากมาสู่การเรียนการสอน สิ่งที่ผมชอบคือ ระดับความอดทนอดกลั้นระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ประมาณว่า มึงด่ากูกูก็ด่ามึงบ้าง แต่ไม่ได้ลงไม้ลงมือกัน (ซึ่งตรงนี้ผมอาจจะเห็นดีเห็นงามมากเกินไปก็ได้ เพราะไม่แน่ใจในความสนิทสนมกันในห้องเรียนในเรื่อง)

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรื่องเกิดปมและสถานการณ์ต่าง ๆ คือ ความเป็นมนุษย์ของตัวมาแร็งเอง คือ แม้ว่าจะเป็นพระเอกมาก พยายามให้โอกาสเด็ก แต่ก็มีความอดทนที่จำกัด และยังต้องการเอาตัวรอดจากความผิดพลาดของตนเอง มาแร็งนี่ โดยปกติแล้วอาจถูกมองว่าดีกว่า (คือมีความใส่ใจในนักเรียนมากกว่า) ครูคนอื่น ๆ ในหนังมาก เช่น เด็กคนหนึ่งกำลังจะโดนไล่ออกเพราะมีเรื่องกับตัวเขาเอง เขาก็พยายามคัดค้าน หรือพยายามเขียนความคิดเห็นที่มีต่อนักเรียนลงไปในสมุดพกให้เด็กรู้สึกแย่น้อยที่สุด (แต่เกิดความบังเอิญซึ่งนำไปสู่จุดพลิกผัน และแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของเขาเองในตอนหลัง) ในขณะที่ครูคนอื่น ๆ เห็นว่าการไล่นักเรียนออกเป็นเรื่องปกติและมีความจำเป็นในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม หนังก็เสนอทางเลือกให้เห็นว่า ความหวังดีของมาแร็งนั้นมันใช่สิ่งที่ดีแน่ ๆ น่ะหรือ เช่น มีครูอีกคนที่วิจารณ์การไม่เขียนความคิดเห็นตรง ๆ ลงไปในสมุดพกของเขา ว่าเป็นเพียงความพยายาม "ซื้อ" สังคมที่สงบสุขในชั้นเรียน แทนที่จะชี้จุดด้อยของเด็กตรง ๆ เพื่อให้เด็กพัฒนาตนเอง

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้โจมตีการศึกษาหรือว่าโจมตีครูตรง ๆ โดยตอนจบนั้นไม่ได้สรุปไปในทางใดทางหนึ่ง เป็นเพียงห้องเรียนว่าง ๆ ที่มีโต๊ะเก้าอี้ระเกะระกะ ส่วนครูกับนักเรียนเตะบอลอย่างสนุกสนานอยู่ที่ลาน ซึ่งตัวผมเองก็คิดออกมาหลายแบบ ความรู้สึกแรกหลังหนังจบก็คือ รู้สึกว่าการเรียนการสอนของห้องนี้มันค่อนข้างสิ้นหวัง คือ สุดท้ายก็ได้แต่เรียน ๆ มันไปเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรพัฒนาขึ้น ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็มี เช่น ครูก็คน หรือไม่ก็ สุดท้ายมาแร็งก็ต้องยอมรับสภาพ (ช่วยเด็กที่ถูกไล่ออกไว้ไม่ได้) และต้องยอมเอาตัวรอด บางคนที่ไปดูแล้วอาจจะได้ข้อคิดอย่างอื่นก็ได้ เช่น ครูควรจะเปิดกว้างและพยายามเข้าใจเด็กอย่างมาแร็ง ก็แล้วแต่คนจะคิดเอา

ตอนแรกที่นั่งดูนั้น ผมนึกว่ามันเป็นหนังสารคดี เพราะมันสมจริงมาก การพูดจา อารมณ์ แต่มารู้เอาทีหลังว่าเป็นการแสดง ตัวเอก (ครู) ก็เป็นคนแต่งหนังสือที่เป็นต้นฉบับของหนังเอง สรุปว่าหนังดีมาก ๆ สิ่งที่ผมไม่เข้าใจอีกเพียงเล็กน้อยของหนังก็เป็นเพราะผมไม่ใช่คนฝรั่งเศส และฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง เท่านั้นเอง รีบไปดูกันเดี๋ยวออกเสียก่อน ที่ House RCA

เขียนมาถึงตรงนี้ มองกลับขึ้นไปอ่าน เกิดฟองความคิดขึ้นเหนือหัวว่า ยาวฉิบ เลยขอยกอีก 2 เรื่องไปต่อคราวหน้าก็แล้วกัน