thought

oblivion

I feel somehow touched by things that go on over an extremely long course of time.

It took around 500 years for Stonehenge to be completed. Considering the life expectancy that time, it's like more than 10 generations. I don't think the last generation of the builders would have any idea about the first, let alone us.

The same feeling happened to me when I read a Japanese comic called "Blame!". The protagonist happens to be immortal. His mission has been going on for so long that he forgets the exact purpose. How long is it? In one scene he has to walk through a room the size of Jupiter.

Recently Jeff Bezos of Amazon.com just funded a 10,000-year clock project called The Clock of the Long Now. It's just like Stonehenge of our generation. People in the future would be totally oblivious of the purpose of it.

Maybe it's not how long it takes that touches me, but how relatively insignificant life is. In Arthur Dent's words, what a sad little blip of an existence...

ราคาของลูกเสือไซเบอร์

ตั้งแต่เปิดตัวโครงการไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่ค่อยได้ยินข่าวคราวของ "โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต" หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า "ลูกเสือไซเบอร์" สักเท่าใดนัก เคยสงสัยกันไหมว่าโครงการนี้ใช้เงินไปเท่าใดบ้าง มีแผนการดำเนินการอย่างไร

อ้างอิงจากเอกสารสรุปผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีในรอบเดือนมิถุนายน และกันยายน 2553 จะเห็นว่ามีการจ้างบริษัท ดิจิตอล สกรีน เพลย์ จำกัด ไปแล้วเป็นเงิน 1,600,000 (มิถุนายน) + 300,000 (กันยายน) = 1,900,000 บาท

หนึ่งล้านเก้าแสนบาท

ยังไม่รวมงบประมาณที่อาจจะใช้ไปกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในงานเปิดตัว หรืองบประมาณจากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ถ้ามี) เพราะเห็นว่าโครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนาลูกเสือไทยด้วย

เท่าที่ปรากฏในข่าว โครงการนี้จะรวบรวมลูกเสือมา 200 คน จาก 10 โรงเรียน เพื่อ "เฝ้าระวังข้อมูลหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประชาชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารในเชิงรุก" ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเฝ้าระวังที่ว่านั้นทำใครโดนจับไปแล้วบ้าง ส่วนเรื่องปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร เท่าที่เห็นก็มีหน้ากลุ่มในเว็บไซต์เด็กดี กับแฟนเพจในเฟซบุค ขอไม่ลงรายละเอียดว่าหน้ากลุ่มนั้นถูกทิ้งร้างอย่างไร และแฟนเพจนั้นเต็มไปด้วยเกม FIFA Superstar อย่างไร

พอจะลองหาดูร่างขอบเขตงาน (TOR) ก็หาไม่เจอ ไม่รู้จะเกี่ยวข้องอะไรกับที่การจัดจ้างเป็นไปด้วยวิธี "พิเศษ" หรือเปล่า (ดูในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างข้างต้น) ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้ ก็น่าจะลองดูกันว่าโครงการนี้มันพิเศษแค่ไหน ถึงสามารถจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ที่ไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีความโปร่งใสและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนั้นถูกกำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อที่ 24 คือจะใช้วิธีพิเศษได้ก็ต่อเมื่อ

  1. เป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ
  2. เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นต้องถอดตรวจ ให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  3. เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ
  4. เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ
  5. เป็นงานที่จำเป็นต้องการจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม (Repeat Order)
  6. เป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี

ก็ไม่รู้ว่าโครงการนี้มันไปตกตามเกณฑ์ข้อไหน

ส่วนอนาคตของโครงการนี้ จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้สัมภาษณ์ไว้ จะมีการอบรมลูกเสือไซเบอร์ให้ได้ 100,000 คน ด้วยงบประมาณศูนย์ไอซีทีชุมชน 578,000,000 บาท และ "ขอแค่ 5% ที่จะทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว คือ เขาสละเวลาวันละ 1 ชั่วโมงไปเสิร์ชในเว็บไซต์ต่าง ๆ ถ้าเจอข่าวดี ๆ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท หรือคุณงามความดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เอาข่าวเหล่านี้ไปเผยแพร่โพสต์ตามเว็บฯ ไปเผยแพร่ต่อหรือโพสต์บนเว็บที่มีข้อความหมิ่นสถาบัน เพื่อให้คนทั่วไปได้อ่าน และเปรียบเทียบข้อมูลสองทาง"

Gentle Reminder

คงจะเคยได้รับอีเมลพวก gentle reminder กันมาบ้างนะครับ

ผมรู้สึกสงสัยว่าคำว่า "gentle" ในหัวข้อ "gentle reminder" ของอีเมลเตือนเวลานัดเนี่ย มันทำหน้าที่อะไร

ถ้าเราส่งอีเมล "gentle reminder" แล้วเขียนข้อความแบบ "หกโมงเย็นที่นั่นที่นี่ อย่ามาสายนะมึง" แล้วอีเมลนี้มันจะยังเป็น gentle reminder อยู่ไหม

หรือถ้าเราส่งอีเมล "reminder" แล้วก็เขียนข้อความเตือนเวลานัดอย่างสุภาพเช่นเดียวกับที่เราจะเขียนในอีเมล "gentle reminder" ปกติแล้ว อีเมลนั้นจะยังคงความ gentle ไว้ได้อยู่หรือไม่

หรือถ้าหากเราสรุปได้ว่าสำหรับข้อความอย่างเดียวกัน การมีคำว่า "gentle" ในหัวข้อ ช่วยเพิ่มความสุภาพได้ ผมว่ามันก็ฟังดูเพี้ยน ๆ ที่คุณสมบัติของเนื้อหาอย่าง "ความสุภาพ" กลับถูกกำหนดโดยคำคำเดียวในหัวข้อ (ซึ่งก็อาจจะเป็นคนละเรื่องกับพวก ครับ/ค่ะ เพราะนั่นเป็นการเพิ่มความสุภาพด้วยการเอ่ยถึงฝ่ายตรงข้าม/เอ่ยถึงบรรดาศักดิ์)

อ้อ พิมพ์ ๆ อยู่นึกขึ้นมาได้ นึกเอาเองว่าคำว่า gentle อาจจะช่วยบอกว่าอีเมล reminder อันนี้ เป็นการเตือนถึงนัดที่ไม่กระชั้นมาก แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าเนื้อความในอีเมลมันบอกเวลานัดอยู่แล้ว จะตั้งหัวข้อว่า "gentle reminder" หรือ "reminder" มันจะต่างกันตรงไหน

Mobile Activism

ช่วงนี้ผมกำลังสนใจเป็นพิเศษในการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (หลังจากนี้ขอเรียกย่อ ๆ ว่ามือถือ) ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือการเมือง

เคยอ่านบทความ เขาบอกว่า คนในพื้นที่ที่พัฒนาแล้วจะรับรู้ข่าวสารผ่านสามจอ คือ คอมพิวเต้อร์ โทรทัศน์ และมือถือ พวกที่ห่างไกลออกมาหน่อยก็สองจอ (ตัดคอมพิวเต้อร์ออก) และที่ห่างไกลที่สุดก็เหลือจอเดียว คือมือถือ

ในประเทศกาน่า จำนวนคนใช้มือถือมีมากถึง 39 ใน 40 ของคนที่มีโทรศัพท์ทั้งหมด ในประเทศแทนซาเนีย ประชาชนร้อยละ 97 สามารถหามือถือใช้ได้ (อาจจะของเพื่อน ของญาติ) ความ "เข้าถึง" ของมือถือที่มากขนาดนี้ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะการเดินสายโทรศัพท์บ้านนั้นต้นทุนสูงกว่ามาก และความ "เข้าถึง" ของมือถือนี้เอง (แม้ว่าจะเป็นรุ่นห่วย ๆ ก็ตาม) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประโยชน์มากในการรณรงค์ หรือทำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ

หมัดเด็ดของมือถือก็คือ มันใช้แทนอินเทอร์เน็ตได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงแล้ว มือถือนี่โคตรสำคัญในการเป็นตัวกลางไปหาอินเทอร์เน็ต หรือไปหาโลกนั่นเอง

ผมเคยเขียนถึงเรื่องระบบสืบค้นข้อมูลผ่าน SMS ในประเทศอูกันด้า (หรือว่ามันอ่านว่า ยูกันด้า ฟะ) ไปแล้วหนหนึ่ง เพิ่งไปเจอ Question Box ที่เจ๋งพอกันอยู่ในประเทศอินเดีย หลักการก็ง่าย ๆ คือ เอามือถือใส่กล่องที่ติดแผงโซล่าร์เซลล์ ไปตั้งไว้ ที่กล่องก็จะมีปุ่มกดให้พูด เมื่อกดแล้วมันก็จะต่อสายไปหาเจ้าหน้าที่ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แล้วอยากจะถามอะไรก็ถาม ความเท่มันอยู่ที่ว่า กล่องนี้ติดตั้งง่ายมาก ขอแค่มีแสงอาทิตย์ก็ไม่ต้องทำอะไรอีก แค่นี้ก็สามารถกระจายโอกาสในการ "เข้าถึงข้อมูล" ไปได้มาก (และแน่นอน กลุ่มที่ทำ Question Box นี้ก็ให้บริการถามตอบทาง SMS ด้วย)

ยุคนี้แล้วมือถือที่รับส่ง SMS ได้ก็น่าจะมีราคาถูกพอที่ใคร ๆ ก็ซื้อได้แล้ว นี่เป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเรายังสามารถใช้ประโยชน์จาก SMS ได้เยอะ ข้อมูลมันก็จัดการง่าย เพราะเป็นแค่ข้อความ มีซอฟท์แวร์หลายตัวที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นระบบรวบรวม SMS คือนึกภาพว่าเราตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมา คนกลางมีแค่แล็พท็อพเครื่องนึงที่ติดตั้งซอฟท์แวร์นี้ และเชื่อมต่อกับมือถือเครื่องนึง คนที่เหลือที่มีมือถือก็สามารถส่ง SMS มาหาคนกลาง เพื่อรายงาน/เก็บข้อมูล/สำรวจอะไรบางอย่าง เช่น ติดตามการทุจริตในการเลือกตั้ง รายงานภัยพิบัติ อะไรพวกนี้ ข้อความทั้งหมดก็จะถูกเก็บลงแล็พท็อพเอาไว้วิเคราะห์ต่อไป หรือจะส่งต่อไปกระจายเก็บไว้หลาย ๆ ที่ หรือส่งต่อไปสู่อินเทอร์เน็ตก็ย่อมได้ ตัวอย่างของซอฟท์แวร์ประเภทนี้ก็คือ FrontlineSMS หรือ SlingshotSMS

ในประเทศปากีสถาน มือถือแทบทุกเครื่องสามารถรับคลื่นวิทยุได้ และคนก็นิยมฟังวิทยุ ทำให้การกระจายข่าวสารเกี่ยวกับเหตุรุนแรงเป็นไปได้โดยง่าย

นอกจากของ "โลวเทค" อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ของ "ไฮเทค" ใหม่ ๆ อย่างพวก บริการตามพื้นที่ (ติดตามจาก GPS) หรือ Augmented Reality (ลองดู Layar ได้) ก็ยิ่งช่วยเรื่องพวกนี้ได้อย่างพิสดารพันลึก

ถ้าสนใจเรื่องพรรค์นี้ ขอแนะนำให้อ่านเว็บเหล่านี้

หรือถ้าใครมีแหล่งอื่น ๆ ก็มาแบ่งกันอ่านนะครับ

เล่าเรื่อง

ผมเพิ่งไปดู The Inglourious Basterds มาเมื่อวันอาทิตย์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนหนังจบก็คือ ตาแรนติโน่ ผู้กำกับและเขียนบท แม่งคิดได้ไงวะ ทั้งฉากโหด ๆ ในหนัง และบทเรื่องที่อลหม่านพินาศฉิบหายวายป่วงพลิกความคาดหมายแบบนั้น ช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่จะสงสัยว่าคนที่คิดเรื่องพรรค์นี้ขึ้นมาได้นี่จะมีชีวิตประจำวันอย่างไร แน่นอนว่าถ้าคิดอย่างมีเหตุผลหน่อยมันก็โยงไม่ได้ตรง ๆ ขนาดนั้นว่าคนที่สร้างสรรค์ผลงานในอารมณ์หนึ่ง ๆ จะต้องเป็นคนที่จมอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ หรือคุ้นเคยกับอารมณ์นั้น ๆ แต่มันก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในทางรสนิยมบ้างล่ะน่า

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านเรื่องสั้น หรือนวนิยายขนาดสั้น เพราะรู้สึกว่ามันจบในตอน ได้รู้บทสรุปอย่างรวดเร็ว (แต่ก็เป็นแฟนตัวยงของนิยายยาว ๆ อย่างชุด The Lord of the Rings นะ) เพิ่งซื้อหนังสือรวมเรื่องสั้นของโดนั่ลด์ บาร์เธลมี่ มาอ่าน แต่ละเรื่อง (ความยาวไม่กี่หน้า) ก็ค่อนข้างหลุดโลก ก็ชวนให้คิดว่าคนเขียนเขาคิดอะไรอยู่ถึงเขียนมันออกมาได้

คนที่ชอบอ่านเรื่องสั้น (จริง ๆ ไม่ต้องเรื่องสั้นหรอก แค่ชอบอ่าน) ก็คงอยากจะเขียนเรื่องของตัวเองบ้าง ผมเองก็ด้วย ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไม คงเป็นอารมณ์หนึ่งของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ที่ต้องการสื่อสารความคิดของตนเองกับคนอื่น ๆ ผ่านช่องทางที่ชอบ (แล้วก็เห็นคนรู้จักเขียน แล้วชอบ อยากเขียนบ้าง) แต่ปัญหาก็คือ ผมไม่แน่ใจนักว่าคนที่อ่าน (หรือถูกยัดเยียดให้อ่าน) จะโยงเรื่องสั้นที่เขียน กับตัวผมหรือเปล่า (แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจก็เถอะ) ทั้ง ๆ ที่มันอาจไม่ได้มาจากสิ่งที่คิดจริง ๆ แต่เป็นการพยายามคิด หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ผมคิดจริง ๆ ก็ได้ พูดง่าย ๆ คือ ใจหนึ่งก็อยากเขียน อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้คนอ่านโยงสิ่งที่เขียนกับตัวจริงของคนเขียน (ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะโยง)

สำเนียงท้องถิ่น

ผมพยายามฝึกสำเนียงอังกฤษตั้งแต่ดูหนังเรื่อง Love Actually (ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก) หาดูในยูทูบก็พอจะทราบบ้างว่าที่อังกฤษก็มีสำเนียงท้องถิ่นหลากหลายไม่ต่างจากไทย ฟังยากบ้างง่ายบ้าง เคยอ่านเจอว่าเมื่อสมัยที่วง Oasis (พูดสำเนียง Manchester) ไปออกรายการ Behind the Music ของช่อง VH-1 ที่อเมริกา ถึงกับต้องมีซับไตเติ้ล หนังเรื่อง Trainspotting ที่พูดสำเนียงสก็อตทั้งเรื่อง ตอนไปฉายที่อเมริกาก็ต้องมีซับไตเติ้ล

ผมกะว่าจะสอบ IELTS เลยลองหาสำเนียงอังกฤษมาฟัง ส่วนมากก็พวกข่าว ตอนหาฟัง มันก็จะมีวิดีโอประเภท นี่ ผมเป็นอเมริกันแล้วหัดสำเนียงอังกฤษได้นะ แล้วก็จะมีคนอังกฤษมาแสดงความคิดเห็นว่า สำเนียงที่คุณพูดน่ะ (หมายถึงสำเนียง RP - Received Pronunciation ประมาณว่าชนชั้นสูงพูดมั้ง) ในอังกฤษไม่ค่อยมีใครพูดกันอีกแล้ว หัดพูดไปคนอังกฤษฟังก็ไม่เชื่ออยู่ดีว่ามาจากอังกฤษ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าสำเนียง "หลวง" เนี่ยก็มีคนพูดน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วก็ไปเจอข่าว BBC รับผู้ประกาศข่าวที่มีสำเนียงท้องถิ่นเพิ่ม ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ พาลนึกไปถึงตอนเด็ก (ผมโตที่อุตรดิตถ์ แต่พูดภาษาถิ่นไม่ได้ว่ะ กลับบ้านทีโคตรอาย) เวลาไปเที่ยวไหนแถบ ๆ นั้น พ่อจะเดาได้ว่าคนที่พูดด้วยเนี่ย มาจากไหน เท่ชะมัดยาด เพราะแค่ในภาคเหนือก็มีหลากหลายสำเนียง มีคนเขียนบล็อกไว้แล้วด้วย หรือจะที่วิกิพีเดี่ย

ประเด็นก็คือ ถ้ามีผู้ประกาศข่าวไทยพูดติดสำเนียงท้องถิ่นของตัวเองบ้าง น่าจะสนุกหูดี คือผมก็เข้าใจว่าการพูดแบบที่เราเรียกกันว่าภาษากลางเนี่ย ใครฟังก็รู้เรื่อง (แน่ล่ะ บังคับให้เรียนกันนี่หว่า) แต่ผมก็มีเพื่อนจากกาญจนบุรี จากเพชรบุรี เขาก็พูดติดเหน่อกันบ้าง ผมก็ฟังรู้เรื่องดี จะใส่สำเนียงตอนอ่านข่าวหน่อยจะเป็นอะไรไป ไว้ข่าวสำคัญมาก ๆ ค่อยพูดเป็นสำเนียงกลางก็ได้

พาลคิดไปว่า เออ พวกเราโตขึ้นมา รู้ภาษาบาลีสันสกฤตก็เยอะแยะ คำราชาศัพท์นี่พูดกันลิ้นระรัว แต่ไม่ยักได้เรียนภาษาถิ่นของภาคต่าง ๆ แฮะ ตอนนี้บางคนอาจจะบอกว่าภาษาถิ่นไทยฟังไม่รู้เรื่อง ผมว่าถ้ามีให้ได้เลือกเรียนกันก็น่าจะรู้เรื่องนะ (หรือว่ามีหว่า)

สุดท้ายภาษามันก็เกี่ยวข้องกับอำนาจ เมื่อก่อนสำเนียงเหน่อสุพรรณก็เป็นสำเนียงหลวง เมื่อคนเมืองหลวงเป็นใหญ่ก็พยายามกดสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ไว้ ทำไมเราไม่อยากลองหัดพูด หัดฟังสำเนียงอื่น ๆ แล้วนำมันสู่กระแสหลักอย่างมีศักดิ์ศรีพอ ๆ กันบ้าง

รับปริญญาน่ายินดี (ขนาดนั้น?)

แล้วฤดูแห่งการรับปริญญาบัตรก็เวียนมาถึงอีกครั้ง คงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคนหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา ครอบครัวของพวกเขาและเธอ หรือนักศึกษา-ประชาชนที่หวังจะสร้างรายได้จากคนกลุ่มก่อนหน้า

ผมไปสัมผัสบรรยากาศงานซ้อมรับปริญญาบัตรมาสองหน ปีที่แล้วกับสองปีที่แล้ว ที่ไปก็ไปช่วยเพื่อน ๆ ขายเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม ชาเขียว เพื่อหารายได้เข้าชุมนุม ดูเหมือนมันจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข (ถ้าไม่สนใจความทรมานจากอากาศร้อน) ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็แห่กันมาแสดงความยินดีกับหนุ่มสาวที่เรียนจบจนได้ ให้ของขวัญ ถ่ายรูป โห่ร้องอะไรกันก็ว่าไป ดูมันช่างน่ายินดีมาก ๆ น่ายินดีจนผมสงสัยว่า

มันน่ายินดีขนาดนั้นเลยหรือ (วะ)

นึกย้อนกลับไปตอนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมไม่เคยเห็นบรรยากาศของความยินดีขนาดนี้ (หรือมันมีแต่โรงเรียนผมไม่มีหว่า แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการรวมญาติมาถ่ายรูปในวันจบ ม. 6 นะ) ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเรียนจบ ม. 6 ได้เนี่ย มันโคตรจะน่าดีใจ ไม่ต้องตื่นไปโรงเรียน ไม่ต้องทำการบ้าน มีเวลาไปเที่ยว นอน เล่นเกม ดูหนัง

หรือถ้าจะบอกว่าเรียนมหาวิทยาลัยมันยากกว่า ผมว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ออกจะสบายกว่ามัธยมด้วยซ้ำ หรือจะบอกว่ามันคือก้าวแรกไปสู่สังคมผู้ใหญ่ หางานทำ ดูแลตัวเองอะไรทำนองนั้น ผมว่าคนเรามันไม่น่าจะเพิ่งมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง (หรือเห็นว่าต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง) กันตอนอายุยี่สิบสองนะ หรือถ้าจะเห็นว่าการศึกษาระดับปริญญาตรีมันเป็นใบเบิกทางไปสู่การมีอาชีพ มันก็จริง (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยชอบค่านิยมนี้นะ) แต่มันต้องถึงขนาดหมดเงินกันเป็นหมื่น ๆ ไปกับช่วงเวลาสั้น ๆ นี้น่ะหรือ

ผมคิดเล่น ๆ หาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า เพราะตัวปริญญาบัตรเอง (และพิธีต่าง ๆ มากมาย) นั่นแหละ ที่ทำให้เกิดงานฉลองรวมญาติโห่ร้องยินดีอะไรกันขนาดนี้ เหมือนว่าปริญญาบัตรมันเป็นสัญลักษณ์ของการเลื่อนขั้นในสังคม เพราะในสมัยก่อนคนที่เรียนจบปริญญาตรีน่าจะมีจำนวนจำกัด (จริง ๆ สมัยก่อนกว่านั้นก็คงมีคนจบมัธยมไม่มาก แต่ว่าตอนจบ ม. 6 คงไม่มีสมาชิกราชวงศ์มาพระราชทานเกียรติบัตรให้) แล้วก็แสดงความยินดีกันจนเป็นประเพณีขนาดนี้

บางคนก็บอกว่างานรับปริญญามันไม่ใช่งานของคนที่เรียนจบ แต่เป็นงานของครอบครัว ที่ได้เห็นลูกหลานเรียนจบ เรื่องนี้ผมว่าก็แปลก คือถ้าคนที่เรียนจบมันเก่งขนาดจบเร็วกว่าคนอื่น หรือได้เกียรตินิยม ผลการเรียนดี มีผลงานอะไร มันก็น่ายกย่องยินดีมากอยู่ แต่การเรียนจบตามเกณฑ์แบบที่คนอีกนับพันก็ทำได้มันก็ไม่ได้น่ายินดีขนาดนั้น น่าเสียดายเงินค่าเช่าชุด ค่าแต่งหน้า ค่าเสื้อผ้า ค่าทำผม ค่าดอกไม้ ค่าของขวัญ ค่าเดินทาง ฯลฯ

อีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันบ้ามากก็คือ การเข้าไปร้องเพลงบูมแสดงความยินดีให้กับบัณฑิต แล้วปิดท้ายด้วยกล่องใส่เงิน จริง ๆ มันก็ไม่แปลกเท่าไร เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงิน ที่บ้ามากกว่าคือบัณฑิตเองนั่นแหละ เสือกจ่าย คือถ้ารู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของคนที่มาร้องเพลงบูมให้จนอยากจะบริจาคเงินให้มันก็ดี แต่แบบที่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือถูกกดดันจนต้องควักเงินออกมาเนี่ย มันอะไรกันวะ เงินก็เงินตัวเอง คนมาร้องเพลงบูมให้ก็ไม่ได้ขู่จะเอาชีวิต จะว่าเกรงใจก็ไม่ใช่เพราะไม่ได้ขอให้ร้อง เออ แต่ไปวิจารณ์ก็จะกลายเป็นเสือกไป เงินของเขา

ลูกมือ

คุณคิดว่าเวลาสี่ปีสำหรับปริญญาตรีนี่มันเป็นอย่างไร หมายถึงว่า น้อยไป หรือมากไป ส่วนมากคงคิดว่าสี่ปีนี่นาน คงอยากรีบจบออกไปทำงานหรือเรียนต่อกันแย่แล้ว

สืบเนื่องจากผมเพิ่งผ่านการสอบกลางภาคไปหมาด ๆ และช่วงสอบก็โอดครวญเหมือนคนส่วนมากว่า อ่านไม่ทัน เวลาไม่พอ อะไรก็ว่ากันไป เมื่อพยายามไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ที่เหลือก็เป็นความผิดของผมเองที่ไม่ตั้งใจเรียนตั้งแต่ในคาบ เมื่อคิดต่อไปว่าแล้วในคาบผมทำอะไร ก็พบว่ามัวแต่หลับ หรือไม่ก็ทำการบ้าน แล้วเวลาตอนกลางคืนหายไปไหนหมด ส่วนมากก็เอาไปนั่งอ่านบล็อก อ่านข่าวสาร เล่นทวิตเต้อร์ แล้วก็ทำงาน

สรุปก็คือ ทำไมมีเวลาไม่พอ

ถ้าตอบตามความคิดคนทั่วไปก็คงเป็นเพราะว่าผมจัดสรรเวลาได้ห่วยเอง จึงต้องเจอปัญหาลูกโซ่ คือต้องใช้เวลาที่ควรจะทำอะไรสักอย่าง ในการทำอะไรอีกสักอย่างที่ผ่านมาแล้ว อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดสุดยอด คือต้องจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับการเรียนให้เสร็จในช่วงก่อนสอบ ยิ่งในบางมหาวิทยาลัยจะชอบส่งเสริมนักว่าให้ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน แค่เรียนนี่ก็จะแย่แล้ว!

แต่ด้วยความที่ไม่อยากโทษตัวเอง ผมขอหันไปโทษสังคมแทนก็แล้วกัน (ว่าเข้านั่น!)

ความใกล้ชิด

ผมมักจะนั่งอมยิ้มเสมอ เวลาที่ใช้ Google Talk แบบผ่านหน้าเว็บใน GMail แชทกับคนหลายคนพร้อมกัน

เพราะบ่อยครั้ง ผมได้เห็นคนสองคนที่ไม่รู้จักกัน และอาจไม่มีวันโคจรมาพบกัน ปรากฏตัวอยู่เคียงข้างกัน

เวลาแชทกับผม คุณรู้สึกถึงใครข้าง ๆ บ้างหรือเปล่า?

ความทรงจำ

ผมยืนอยู่หน้ากระจกในห้องน้ำ

ใบหน้าตัวเองในกระจก กลิ่นและรสของยาสีฟัน เสียงนกร้องนอกหน้าต่าง สัมผัสกระด้างของอ่างล้างหน้า

ค้นลงไปในความทรงจำ

ครึ่งนาทีที่แล้ว ผมเอาแปรงสีฟันยัดใส่ปาก หนึ่งนาทีที่แล้ว ผมกดคันโยกของโถปัสสาวะ ยี่สิบสี่ชั่วโมงที่แล้ว ผมนั่งอยู่ในที่ทำการไปรษณีย์ สองสัปดาห์ที่แล้ว ผมโกนหนวดครั้งล่าสุด หนึ่งเดือนที่แล้ว ผมซื้อยาสีฟันหลอดใหม่ สองปีที่แล้ว ผมย้ายของเข้าหอพักใน ยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว ผมเกิดขึ้นมาบนโลก

สิ่งต่าง ๆ ที่ผมสัมผัสได้รอบตัว หนวดเคราบนใบหน้า หลอดยาสีฟันที่เสียรูปทรง ภาพตึกหอพักนอกหน้าต่าง หยดน้ำบนมือ ทุกอย่างปรากฏอยู่อย่างมีเหตุผล สอดคล้องกับอดีต หรือจะพูดให้ถูกคือข้อมูลในความทรงจำ

ผมจับก็อกน้ำ สัมผัสของเหลี่ยมมุมปรากฏขึ้นทันทีในความรู้สึก

ผมบอกไม่ได้ว่าความทรงจำที่ครอบครองอยู่นั้น มันก็เพิ่งจะปรากฏขึ้นมาด้วยเหมือนกันหรือไม่

Subscribe to thought