แล้วฤดูแห่งการรับปริญญาบัตรก็เวียนมาถึงอีกครั้ง คงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคนหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา ครอบครัวของพวกเขาและเธอ หรือนักศึกษา-ประชาชนที่หวังจะสร้างรายได้จากคนกลุ่มก่อนหน้า
ผมไปสัมผัสบรรยากาศงานซ้อมรับปริญญาบัตรมาสองหน ปีที่แล้วกับสองปีที่แล้ว ที่ไปก็ไปช่วยเพื่อน ๆ ขายเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม ชาเขียว เพื่อหารายได้เข้าชุมนุม ดูเหมือนมันจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข (ถ้าไม่สนใจความทรมานจากอากาศร้อน) ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็แห่กันมาแสดงความยินดีกับหนุ่มสาวที่เรียนจบจนได้ ให้ของขวัญ ถ่ายรูป โห่ร้องอะไรกันก็ว่าไป ดูมันช่างน่ายินดีมาก ๆ น่ายินดีจนผมสงสัยว่า
มันน่ายินดีขนาดนั้นเลยหรือ (วะ)
นึกย้อนกลับไปตอนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมไม่เคยเห็นบรรยากาศของความยินดีขนาดนี้ (หรือมันมีแต่โรงเรียนผมไม่มีหว่า แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการรวมญาติมาถ่ายรูปในวันจบ ม. 6 นะ) ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเรียนจบ ม. 6 ได้เนี่ย มันโคตรจะน่าดีใจ ไม่ต้องตื่นไปโรงเรียน ไม่ต้องทำการบ้าน มีเวลาไปเที่ยว นอน เล่นเกม ดูหนัง
หรือถ้าจะบอกว่าเรียนมหาวิทยาลัยมันยากกว่า ผมว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ออกจะสบายกว่ามัธยมด้วยซ้ำ หรือจะบอกว่ามันคือก้าวแรกไปสู่สังคมผู้ใหญ่ หางานทำ ดูแลตัวเองอะไรทำนองนั้น ผมว่าคนเรามันไม่น่าจะเพิ่งมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง (หรือเห็นว่าต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง) กันตอนอายุยี่สิบสองนะ หรือถ้าจะเห็นว่าการศึกษาระดับปริญญาตรีมันเป็นใบเบิกทางไปสู่การมีอาชีพ มันก็จริง (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยชอบค่านิยมนี้นะ) แต่มันต้องถึงขนาดหมดเงินกันเป็นหมื่น ๆ ไปกับช่วงเวลาสั้น ๆ นี้น่ะหรือ
ผมคิดเล่น ๆ หาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า เพราะตัวปริญญาบัตรเอง (และพิธีต่าง ๆ มากมาย) นั่นแหละ ที่ทำให้เกิดงานฉลองรวมญาติโห่ร้องยินดีอะไรกันขนาดนี้ เหมือนว่าปริญญาบัตรมันเป็นสัญลักษณ์ของการเลื่อนขั้นในสังคม เพราะในสมัยก่อนคนที่เรียนจบปริญญาตรีน่าจะมีจำนวนจำกัด (จริง ๆ สมัยก่อนกว่านั้นก็คงมีคนจบมัธยมไม่มาก แต่ว่าตอนจบ ม. 6 คงไม่มีสมาชิกราชวงศ์มาพระราชทานเกียรติบัตรให้) แล้วก็แสดงความยินดีกันจนเป็นประเพณีขนาดนี้
บางคนก็บอกว่างานรับปริญญามันไม่ใช่งานของคนที่เรียนจบ แต่เป็นงานของครอบครัว ที่ได้เห็นลูกหลานเรียนจบ เรื่องนี้ผมว่าก็แปลก คือถ้าคนที่เรียนจบมันเก่งขนาดจบเร็วกว่าคนอื่น หรือได้เกียรตินิยม ผลการเรียนดี มีผลงานอะไร มันก็น่ายกย่องยินดีมากอยู่ แต่การเรียนจบตามเกณฑ์แบบที่คนอีกนับพันก็ทำได้มันก็ไม่ได้น่ายินดีขนาดนั้น น่าเสียดายเงินค่าเช่าชุด ค่าแต่งหน้า ค่าเสื้อผ้า ค่าทำผม ค่าดอกไม้ ค่าของขวัญ ค่าเดินทาง ฯลฯ
อีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันบ้ามากก็คือ การเข้าไปร้องเพลงบูมแสดงความยินดีให้กับบัณฑิต แล้วปิดท้ายด้วยกล่องใส่เงิน จริง ๆ มันก็ไม่แปลกเท่าไร เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงิน ที่บ้ามากกว่าคือบัณฑิตเองนั่นแหละ เสือกจ่าย คือถ้ารู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของคนที่มาร้องเพลงบูมให้จนอยากจะบริจาคเงินให้มันก็ดี แต่แบบที่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือถูกกดดันจนต้องควักเงินออกมาเนี่ย มันอะไรกันวะ เงินก็เงินตัวเอง คนมาร้องเพลงบูมให้ก็ไม่ได้ขู่จะเอาชีวิต จะว่าเกรงใจก็ไม่ใช่เพราะไม่ได้ขอให้ร้อง เออ แต่ไปวิจารณ์ก็จะกลายเป็นเสือกไป เงินของเขา