เสวนา "เสรีภาพ ความคิด และสิทธิมนุษยชน" (1) - สมชาย ปรีชาศิลปกุล

มีโอกาสไปฟังเสวนาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเมื่อวันอาทิตย์ เลยสรุปมาให้อ่านกัน พอดีว่าเป็นมือใหม่หัดจด ถ้าตกหล่นหรือผิดพลาดก็ช่วยบอกด้วยนะครับ จะแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ ประเด็นของผู้ร่วมการเสวนาแต่ละคน กับช่วงคำถาม หน้าจะได้ไม่ยาวมาก เดี๋ยวจะมีคนดูแถบเลื่อนทางขวามือแล้วขี้เกียจอ่าน (จริง ๆ คือยังสรุปไม่เสร็จ) อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนเสริมประเด็นเสริมจมูกอะไรก็ทิ้งไว้ในคอมเม้นท์ได้เลย

ถ้าขี้เกียจอ่าน ก็ดูวิดีโอคลิปได้จากประชาทรรศน์ออนไลน์ เข้าใจว่ามีคนทำสรุปเป็นตัวอักษรด้วย แต่ยังหาไม่เจอ น่าจะสรุปได้ดีกว่าผม แหะ ๆ ไว้เจอแล้วจะเอามาแปะ

การเสวนา "เสรีภาพ ความคิด และสิทธิมนุษยชน"

จัดขึ้นโดยนักศึกษาปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 12.30 - 16.00 น. อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว ผู้ร่วมการเสวนา

  • รศ. ดร. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คุณสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ
  • ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ดำเนินรายการ : ดร. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ. ดร. สมชาย ปรีชาศิลปกุล : สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ

ความสำคัญของเสรีภาพ

  • เสรีภาพในการแสดงออก มีความสำคัญต่อประชาธิปไตยอย่างมาก
  • เพราะประชาธิปไตยต้องสัมพันธ์ต่อประชาชน
  • ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้
  • เพื่อให้คนในสังคมเข้าไปกำหนดความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
  • ความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องมี
  • ต้องไม่มีอำนาจสูงสุดอันเป็นนิรันดร์มากำกับ
  • เราจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออกได้ มี 3 เรื่องย่อย
    • เชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ๆ ว่าเขาก็มีเหตุผลเช่นกัน
    • ขันติธรรม คสามารถในการรับฟังคคิดเห็นที่ต่างจากของตน
    • ภราดรภาพ การมองว่าคนร่วมสังคมเป็นคนที่ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคิดต่างแล้วต้องกำจัด

ราคาที่สังคมต้องจ่ายจากการปิดกั้น หรือ "ปิดปาก"

  • การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอาจทำให้เกิดสบายใจที่มีแต่คนคิดเหมือนกัน แต่มีราคาที่สังคมต้องจ่าย
  • มองได้ 3 แง่มุม
    • ถ้าความคิดเห็นที่ต่างจากของเราถูกต้อง แปลว่าเรากำลังหลงผิด การปิดกั้นคือการบูชายัญทางความรู้
    • ความคิดเห็นที่แตกต่างมักไม่ถูกหมดหรือผิดหมด เช่นเดียวกับความคิดของเรา จะรู้ได้ว่าผิดหรือถูกเมื่อมีการถกเถียงกัน
    • ถ้าความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นผิด เราก็ต้องเปิดโอกาส เพราะมันเป็นการตรวจสอบเราเอง ทำให้หลักการของเราไม่ใช่ dead dogma หรือหลักการตายซาก ถ้าเรายังสามารถอธิบายได้ จะทำให้อีกฝ่ายเรียนรู้และเข้าใจ
  • สามอย่างนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจทำให้สังคมหยุดความเจริญ
  • สิ่งที่ต้องปกป้องจริง ๆ คือ เสรีภาพในการแสดงออกของคนส่วนน้อย เพราะการแสดงออกของส่วนใหญ่นั้นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

ข้อจำกัดของเสรีภาพ

  • เสรีภาพในการแสดงออก มีความสำคัญ แต่มีข้อจำกัด
    • ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออก เกิดขึ้นเมื่อเสรีภาพในการแสดงออกนำมาซึ่งภยันตรายโดยตรง (Harm Principle ของ John Stuart Mill)
    • เสรีภาพในการแสดงออก ในทางศาสนาเป็นเรื่องที่สังคมมักจะละไว้
    • ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกขึ้นอยู่กับระดับปัญญาของสังคม หรือความสามารถในการเผชิญหน้ากับข้อมูลความจริงหรือข้อขัดแย้ง ด้วยการถกเถียงหรือด้วยการใช้ปัญญา ซึ่งคนในสังคมช่วยพัฒนาระดับปํญญาได้ เพื่อให้เมื่อเกิดความขัดแย้งแล้วไม่เกิดความรุนแรง

ข้อสังเกตต่อเสรีภาพในสังคมไทย 4 ประเด็น

  • เมื่อไรที่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก คนไทยชอบต่อสร้อยว่าเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการ ซึ่งในภาษาอังกฤษไม่มี
    • เสรีภาพในการแสดงออก คือ เสรีภาพในการแสดงออก ของทุกคน
    • หากมันเป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการ มันก็จะเป็นของคนเพียง 3 ล้านคนที่จบปริญญาตรี
    • มันต้องไม่หยุดอยู่แค่คนที่มีการศึกษาสูง
    • เมื่อเราจำกัดแบบนั้น มันคือการตีกรอบให้เสรีภาพในการแสดงออกแคบลง
    • ทำไมจึงจะรับฟังความคิดเห็นของคนทั่วไปไม่ได้?
  • การแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อสถาบันที่ถูกยึดถือว่าเป็นสถาบันหลักหรือถูกยึดถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เราจะจัดวางสถานะของคนที่มีความคิดเห็นต่างออกไปอย่างไร
    • การวิพากษ์วิจารณ์ เรามีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน
    • เรามีสิทธิ์ไม่เคารพสิ่งที่ผู้อื่นเคารพหรือไม่
  • การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก่อนรัฐมักเป็นผู้ร้าย ต่อมาเป็นธุรกิจเอกชน วันนี้มีการคุกคามมาจากประชาชนด้วยกันเอง ภาคประชาชนส่วนใหญ่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่เห็นต่าง เร็ว ๆ นี้ การนำชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคนที่ลงชื่อยกเลิกมาตรา 112 มาโพสท์ลงเว็บ คือการคุกคามอย่างร้ายแรง มันทำให้เกิดความกลัว ภาคประชาชนไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตยเสมอไป
  • ระดับปัญญาของสังคมไทย สังคมไทยขยายตัวมากขึ้น มีสื่อมากขึ้น ชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น สัมพันธ์ต่อโลกาภิวัฒน์มากขึ้น ดูเหมือนว่ามีสังคมปัญญามากขึ้น แต่ท่ามกลางความขัดแย้ง ยังคงมีคนจำนวนมากที่จงใจรับสื่อข้างเดียว